รับมือภาษีทรัมป์! ไทยวาง 5 แนวทาง “ซื้อก๊าซอลาสก้า-ปรับภาษีนำเข้า” หวังผลลัพธ์แบบ Win-Win

นายกฯ “แพทองธาร” เป็นประธานถกแผนรับมือมาตรการภาษีสหรัฐฯ อาทิ “ซื้อก๊าซอลาสก้า-ปรับภาษีนำเข้า” ขณะ “พิชัย ชุณหวชิร” ย้ำยังไม่เร่งเดินทาง ขอเตรียมแผนเจรจาให้รอบด้าน ยันไร้ปัญหาวีซ่า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 เม.ย.68) เวลา 13:30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะทำงานด้านนโยบายการค้าสหรัฐฯ โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

การประชุมดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่สหรัฐฯ ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าขั้นต่ำ 10% จากทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่มีดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง โดยประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีอัตราภาษีตอบโต้สูงถึง 36-37%

นางสาวแพทองธาร เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมรับมือมาตรการดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยย้ำว่า “การทำงานต้องไม่เพียงรวดเร็ว แต่ต้องแม่นยำ” พร้อมระบุว่า แม้ไทยจะยังไม่รีบดำเนินการส่งหนังสือถึงสหรัฐฯ ทันที แต่กลับได้รับการตอบกลับจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เพื่อกำหนดนัดหารือแล้ว โดยจะมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นผู้แทนเดินทางไปเจรจาในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่รายละเอียดเชิงเทคนิคต่าง ๆ จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์

หลังการประชุม นายพิชัย ชุณหวชิร ได้แถลงร่วมกับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยสรุปแนวทางเบื้องต้นในการเตรียมการเจรจากับสหรัฐฯ ดังนี้

1. พิจารณาการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันไทยนำเข้าจากประเทศอื่นกว่า 4 ล้านตัน รวมถึงสินค้าประเภทเครื่องในสัตว์ โดยจะดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อไม่กระทบต่อเกษตรกรไทย

2. ผ่อนคลายภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ ที่มีผลกระทบด้านรายได้ภาษีต่ำ จำนวนกว่า 100 รายการ

3. ปรับปรุงกลไกการค้าให้สะดวกมากขึ้นกับทุกประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของภาครัฐ พร้อมทบทวนและยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ

4. ต้นถิ่นกำเนิดของสินค้า ต้องตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ไทยถูกใช้เป็นทางผ่านของสินค้า

5. ปรับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ โดยพิจารณานำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น จากรัฐอลาสก้า พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐฯ เพื่อสร้างสมดุลทางการค้า

นายพิชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไทยเคยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยถึง 100% ซึ่งผลิตได้ระหว่าง 4,000-5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันการผลิตในอ่าวไทยลดลงเหลือเพียง 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต ขณะที่ความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 4,900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ในอดีตเราซื้อก๊าซจากตะวันออกกลาง แต่หากพิจารณาต้นทุนก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ หากไม่รวมค่าขนส่ง จะมีราคาถูกกว่า โดยบางวันราคาขายอยู่ที่ประมาณ 2 เหรียญต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 5.90 เหรียญต่อล้านบีทียู

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากหลายแหล่งเพื่อเสริมความมั่นคงในด้านพลังงานและสร้างสมดุลทางการค้าระหว่างประเทศ โดยจะส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนไทยในอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐฯ ในอนาคต

นายพิชัย ย้ำว่า การดำเนินการของไทยไม่ใช่การตอบสนองต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ แต่เป็นการวิเคราะห์โจทย์อย่างรอบด้าน โดยเน้นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่าการเจรจาครั้งนี้จะไม่เร่งรีบ แต่จะมุ่งเน้นความรอบคอบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะ 1-5 ปี โดยยึดหลัก “Win-Win Solution” ที่ไทยและสหรัฐฯ ต่างได้รับประโยชน์ และใช้โอกาสนี้ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดมีวิธีการอีกมาก กระทรวงพาณิชย์จะทำรายละเอียดให้ครบถ้วนและไปเจรจากับ USTR

อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ และและรมว.คลัง ยังไม่ได้เปิดเผยกำหนดการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกา โดยย้ำว่าจำเป็นต้องวิเคราะห์โจทย์และเตรียมข้อมูลให้รอบด้านและชัดเจนก่อนเดินทาง เพื่อให้การเจรจาเกิดประสิทธิผลสูงสุด

นายพิชัย ยอมรับว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นด้วย ทำให้การส่งออกของไทยลดลง ซึ่งไทยอาจจำเป็นต้องลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการส่งออกที่หายไป แต่ติดปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะของไทยกำหนดไว้ที่ 70% จากปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 64% ดังนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะขยายได้เมื่อมีเหตุอันสมควร

ยันเรื่องวีซ่าเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ ไม่มีปัญหา

เมื่อถูกถามว่า การจะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ จะติดเรื่องวีซ่า ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เคยประกาศห้ามออกให้เจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องกับกรณีชาวอุยกูร์หรือไม่ นายพิชัย ถามกลับว่า วีซ่าใครเป็นคนออกนะ? และกล่าวต่อว่า กระทรวงการต่างประเทศต้องช่วยตนแล้ว ไม่มีปัญหา เพราะตนไปทำเรื่องที่เป็นผลดีกับทั้ง 2 ประเทศ

Back to top button