“ศุภวุฒิ” เตือนเจรจา “ภาษีทรัมป์” อย่าหวังยูเทิร์นโลกเดิม – ห่วงไทยถูกบีบให้เลือกข้าง

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” มอง “โดนัลด์ ทรัมป์” ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดันประเทศอื่นให้ยอมตามแบบเล่มเกมถือไพ่เหนือกว่า ซึ่งไทยจำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แนะการเจรจาต้องมองกันยาวๆ และไม่ควรตั้งความหวังว่า จะกลับไปอยู่ในโลกเดิม ก่อนที่ทรัมป์จะกลับมารับตำแหน่ง


ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษานโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” วันนี้ (9 เม.ย.68) ถึงท่าทีของประเทศไทยต่อมาตรการ “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบการค้าโลก

ดร.ศุภวุฒิ ระบุว่า มาตรการภาษีใหม่นี้จะส่งผลกระทบในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะต่อผู้ส่งออกไทย ซึ่งรัฐบาลกำลังเดินหน้าสู่กระบวนการเจรจากับสหรัฐฯ พร้อมเตรียมวงเงินช่วยเหลือ 3,000 ล้านบาท เพื่อพยุงสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสนับสนุนการขยายตลาดไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ โดยมาตรการเยียวยาจะออกมาโดยเร็วที่สุด

สำหรับตัวเลข “72%” ที่สหรัฐฯ ยกขึ้นมาเพื่ออ้างเก็บภาษีตอบโต้ไทยจากการขาดดุลการค้าครึ่งหนึ่งคือ “36%” นั้น ดร.ศุภวุฒิ ชี้ว่า เป็นตัวเลขที่ไม่มีหลักการ และสะท้อนว่าสหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลให้มากที่สุด

“เขาเอาการขาดดุลการค้ากับประเทศไทยเป็นตัวตั้ง ซึ่งมูลค่าในการขาดดุลการค้าเมื่อปีที่แล้ว ประมาณ 45,000 ล้านเหรียญ หารด้วยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปอเมริกาทั้งหมด 63,000 ล้านเหรียญ จะได้ 71.4% แล้วเขาก็บอกว่าหักออกเป็น 36% มันมั่ว แถมสะท้อนให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับการขาดดุลการค้า โดยอ้างว่าการขาดดุลการค้าคือการถูกเอาเปรียบ ซึ่งไม่มีหลักการอะไรในเชิงวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ในอเมริกาทุกคนก็บอกว่าสูตรอันนี้สูตรมั่ว…” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

ที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ย้ำว่า ท่าทีของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ มีลักษณะกดดันประเทศอื่นให้ยอมตามแบบเล่มเกมถือไพ่เหนือกว่า ซึ่งไทยจำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics)

เจรจาระยะยาว ไม่ใช่เรื่องวันเดียว – ห่วงสหรัฐฯ บีบไทยเลือกข้างจีน

สำหรับการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ของ “ทีมไทยแลนด์” ที่จะนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ศุภวุฒิ ระบุว่าเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องและละเอียดอ่อน อาจต้องใช้เวลาหลายเดือน และไม่ควรตั้งความหวังว่า จะกลับไปอยู่ในโลกเดิม ก่อนที่ทรัมป์จะกลับมารับตำแหน่ง

สหรัฐฯ พยายามโดดเดี่ยวจีน และกดดันให้พันธมิตรเลือกข้าง นี่เป็นจุดที่ไทยต้องคิดให้รอบคอบว่าจะวางจุดยืนตรงไหนให้เหมาะสม”

เตือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงถดถอย – ชงแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย ลดแรงเสียดทาน

ดร.ศุภวุฒิ ยังมองว่า หากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เดินหน้าต่อ เป็นไปได้ว่าทุกอย่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำ จะส่งผลกระทบในเชิงลบรุนแรงมากกับเศรษฐกิจอเมริกา โดยหลายสำนักวิเคราะห์เริ่มคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปีนี้ ซึ่งชาวอเมริกันไม่ได้ต้องการซื้อสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้อง “หาทางลง” ทางนโยบาย

ทั้งนี้ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ยังสนับสนุนหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะสั้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาแรงกระแทกจากภายนอก พร้อมย้ำว่าในระยะยาว ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพื่อสร้างความยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก

Back to top button