
“อัสสเดช” พร้อมยืดเวลาชอร์ตเซล! แก้โรบอทเทรด-คลายเกณฑ์ซื้อหุ้นคืน เรียกความเชื่อมั่น SET
“อัสสเดช คงสิริ” ย้ำพร้อมขยายเวลาห้ามชอร์ตเซลหากจำเป็น เร่งคลายเกณฑ์ซื้อหุ้นคืน - จัดระเบียบโรบอทเทรด หนุนความเท่าเทียม สร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทยระยะยาว
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” วันนี้ (11 เม.ย.68) ถึงทิศทางการดำเนินมาตรการรองรับความผันผวนของตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) และตลาด TFEX โดยมาตรการชั่วคราว ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 8 – 11 เม.ย.68 มี 3 ข้อ ประกอบด้วย (1.) ปรับเกณฑ์ราคา Ceiling & Floor จากเดิม ±30% เหลือ ±15% (2.) ปรับกรอบ Dynamic Price Band จาก ±10% เหลือ ±5% และ (3.) ห้ามการขายชอร์ต (Short Sell) ทุกหลักทรัพย์ ยกเว้นผู้สร้างสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ยังสามารถขายชอร์ตในหุ้นกลุ่ม SET100
นายอัสสเดช กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีการประกาศออกมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.68 ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการ ทำให้สามารถพิจารณาสถานการณ์ในตลาดหุ้นต่างประเทศได้ก่อนจะเปิดตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างทันท่วงที
เมื่อเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยกับภูมิภาค ถือว่ามาตรการที่นำมาใช้สามารถลดแรงกระแทกได้ในระดับหนึ่ง ตลาดไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ ยกเว้นจีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ที่ดัชนีปรับตัวลงน้อยกว่าตลาดหุ้นไทยเพียงเล็กน้อยในช่วงวันที่ 8–9 เม.ย. ขณะที่ในวันที่ 10 เม.ย. ตลาดหุ้นทั่วภูมิภาคฟื้นตัวกลับมาพร้อมกัน
อย่างไรก็ตามสำหรับเหตุการณ์ในวันอังคาร (9 เม.ย.68) ที่ผ่านมา ที่ดัชนีร่วงแรง ตลท. พบว่า หุ้นในกลุ่ม SET100 ที่ปรับเพดานใหม่เหลือ ±15% มีเพียง 2 ตัวที่แตะฟลอร์ สะท้อนว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ยังมีเสถียรภาพดี ส่วนหุ้นที่ปรับลงรุนแรงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีสภาพคล่องต่ำ
ส่วนมาตรการห้ามชอร์ตเซลนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อกดการขายหรือแทรกแซงกลไกตลาดโดยตรง แต่ต้องการให้ตลาดมีเวลาประเมินสถานการณ์อย่างมีเหตุผล นักลงทุนที่ต้องการซื้อหรือขายจะได้ตัดสินใจโดยไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาวะตื่นตระหนก
นายอัสสเดช ย้ำว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยต้นสัปดาห์หน้าตรงกับวันหยุดราชการ (14–15 เม.ย.68) ทีมงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมพร้อมเรียกประชุมด่วน หากพบความจำเป็นต้องขยายมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของท่าทีจากกระทรวงการคลัง นายอัสสเดช กล่าวว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับ ตลท. อย่างใกล้ชิด และกำชับให้ดำเนินการตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ยืนยันว่า ไม่ได้ปิดประตูตาย ต่อการขยายระยะเวลามาตรการ
ทั้งนี้ ไทยนับเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการระงับชอร์ตเซลในช่วงนี้ ทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องพิจารณาผลกระทบทั้งต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่อาจกระทบต่อการจัดอันดับตลาดทุนของไทยในดัชนีสำคัญอย่าง MSCI
“การยกเลิกชอร์ตเซลในระยะยาว เคยส่งผลให้ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ถูกปรับลดน้ำหนักในดัชนี MSCI ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทย เพราะหากถูกถอดออกจากดัชนีสำคัญ จะส่งผลกระทบอีกแบบหนึ่ง” นายอัสสเดชกล่าว
สำหรับมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วงที่มีมาตรการห้ามชอร์ตเซล พบว่ามูลค่าการซื้อขายพุ่งสูงขึ้นที่ระดับ 50,000 – 60,000 ล้านบาทต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภาวะปกติ ซึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมวิเคราะห์ต่อว่าเป็นผลบวกหรือลบ ผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า
“เราต้องพิจารณาว่า แรงซื้อขายที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อมั่น หรือจากภาวะความผันผวน เพราะในภาวะที่มีข่าวแรง ๆ จากต่างประเทศ นักลงทุนมักตอบสนองเร็วและรุนแรง มาตรการที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯออกมาช่วงวันที่ 8 – 11 เม.ย.นี้ เพื่อให้ตลาดมีเวลาหยุดคิด และไม่ตัดสินใจจากอารมณ์เพียงอย่างเดียว” นายอัสสเดช กล่าว
นายอัสสเดช ระบุด้วยว่า หนึ่งในเกณฑ์ที่ MSCI ใช้พิจารณาน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นแต่ละประเทศ คือ “ความเปิดกว้างของกฎเกณฑ์” และ “ความสามารถในการลงทุนหลากหลายรูปแบบ” หากห้ามในระยะยาวก็จะส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามการพิจารณาจะใช้มาตรการห้ามชอร์ตซอลต่ออีก 1 เดือนได้หรือไม่นั้น
“ต้องมานั่งวิเคราะห์ เป็นประเด็นที่ต้องดูสถานการณ์ในต้นสัปดาห์หน้า เราก็ไม่รู้ว่าผู้นำในเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ว่าจะมีการตัดสินใจอะไรที่ทำให้เกิดสถานการณ์ผันผวนอย่างเมื่อวันจันทร์นี้อีกหรือเปล่า และต้องมานั่งดูให้สมดุลด้วยว่ามาตรการที่เราออกไปจะมีผลกระทบให้ระยะยาวยังไง ไม่ได้อยากให้ระยะยาวตลาดเราถดถอยด้วย” ผู้จัดการ ตลท. กล่าว
นายอัสสเดช กล่าวด้วยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมเดินหน้า “โครงการ Jump+” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแผนกลยุทธ์ปี 2568–2570 เพื่อยกระดับศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำ “แผนการเติบโตที่ชัดเจน” ในช่วง 3–4 ปีข้างหน้า โดยแต่ละบริษัทสามารถกำหนดแนวทางตามความเหมาะสมกับโครงสร้างธุรกิจของตนเอง เช่น การลดต้นทุน การลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเชิงรุก
ทั้งนี้ ตลท. จะสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนออกมาสื่อสารแผนดังกล่าวกับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและช่วยให้ตลาดทุนสามารถประเมินศักยภาพของกิจการได้อย่างรอบด้าน ท่ามกลางโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายอัสสเดช ยังกล่าวถึงประเด็นระบบซื้อขายอัตโนมัติ (โรบอทเทรด) ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากนักลงทุนถึงความไม่เท่าเทียมในด้านความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลและการส่งคำสั่งซื้อขาย โดยยืนยันว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง และเตรียมประกาศมาตรการเชิงรูปธรรมในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้
ภายใต้มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดโอกาสให้ทุกบริษัทหลักทรัพย์สามารถติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ของตนเองภายในศูนย์ Colocation ของตลาด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกโบรกเกอร์สามารถเข้าถึงระบบซื้อขายด้วยความเร็วที่เท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดเผยข้อมูลความเร็วในการรับส่งข้อมูลของแต่ละโบรกเกอร์ เปรียบเทียบกับความเร็วสูงสุดที่ระบบรองรับ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและความเสมอภาคในการเข้าถึงข้อมูล ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งให้ความสนใจและยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว
นายอัสสเดช ยังกล่าวทิ้งท้าย ถึงความคืบหน้าการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการ “ซื้อหุ้นคืน” ของบริษัทจดทะเบียนว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) โดยเป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้คล่องตัวมากขึ้น
โดยเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือ “ระยะเวลาการเว้นช่วง” ก่อนจะสามารถกลับมาซื้อหุ้นคืนได้อีกครั้ง จากเดิมที่กำหนดให้ต้องเว้นระยะเวลา 6 เดือน เบื้องต้นคาดว่าเกณฑ์ใหม่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้