
21 เม.ย.นี้! “ไทย” เปิดฉากเจรจาการค้า “สหรัฐ” ชู 5 แผน ขึ้นแท่นพันธมิตรเศรษฐกิจโลก
โฆษกรัฐบาล เปิดเผยเจรจาการค้าสหรัฐฯ หลังประกาศภาษีตอบโต้ไทย 36% เตรียมบินบุกวอชิงตัน ก่อน “ทีมไทยแลนด์” จะเปิดโต๊ะเจรจา 21 เม.ย.นี้
วันนี้ (14 เม.ย.68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการติดตามมาตรการภาษีสหรัฐอเมริกา ได้หารือร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ และภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และกลุ่มผู้ส่งออกและนำเข้าด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

รัฐบาลไทยได้สรุปยุทธศาสตร์เบื้องต้นสำหรับเจรจาทางการค้า เพื่อเตรียมพร้อมสู่การหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในปลายเดือนนี้

ไทมไลน์การเดินทางของ “ทีมไทยแลนด์”
- 15 เม.ย.68 คณะกรรมการฯ เตรียมสรุปผลการวิเคราะห์ผลดี-เสีย และความเป็นไปได้จากทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมเป็นข้อมูลในการเจรจา
- 17 เม.ย.68 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี นำคณะเดินทางล่วงหน้าไปยังเมืองซีแอตเทิล พบปะภาคธุรกิจการเกษตร อุตสาหกรรม และการลงทุน
- 20 เม.ย.68 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางสมทบ เพื่อรวมเป็น “ทีมไทยแลนด์” เต็มรูปแบบ
- 21 เม.ย.68 คณะ “ทีมไทยแลนด์” เดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเตรียมเข้าพบผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ และเปิดฉากการเจรจาอย่างเป็นทางการ
“คณะเจรจายังมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีทางออกที่ดีที่สุดในการค้าระหว่างประเทศครั้งนี้อย่างแน่นอน” นายจิรายุ กล่าว
แนวทางของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าและมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้ 5 หลักการ ดังนี้
- การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐฯ เกื้อหนุนกัน โดยรัฐบาลไทยเห็นว่า ความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพร่วมกัน เช่น เกษตร อาหาร และเทคโนโลยี ถือเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสองประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตพรีเมียมเกรด และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากขึ้น หากมีการเสริมวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด ที่มีต้นทุนต่ำและคุณภาพสูง
- การเปิดตลาดและลดภาษี ลดอุปสรรคทางการค้าตาม National Trade Estimate 2025 ของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า และบริหารโควตาสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ข้าวโพด เพื่อเปิดตลาดในลักษณะที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยจัดสรรการนำเข้าเฉพาะช่วงที่สินค้าในประเทศขาดแคลน สร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่นต่อทุกฝ่าย
- การเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องใช้ โดยไทยเตรียมพิจารณานำเข้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบที่ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้แต่ผลิตไม่ได้เพียงพอ เช่น วัตถุดิบด้านปิโตรเคมี หรือเครื่องบินพาณิชย์ เพื่อเติมเต็ม supply chain ของประเทศ รวมถึงสินค้าที่ประเทศไทยเป็น Net Importer อาทิ ชีส ถั่ววอลนัท ผลไม้สดที่ไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น เชอรี่ แอปเปิ้ลซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้ลดการได้เปรียบดุลการค้า
- การตรวจสอบเพิ่มความเข้มงวดสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม โดยรัฐบาลตระหนักถึงความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำจากประเทศที่สามผ่านไทย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จึงจะมีมาตรการคัดกรองสินค้าต้นทาง ตรวจสอบแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด และยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้โปร่งใสและเป็นไปตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล
- การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แล้ว ไทยยังมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตสินค้าส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกาไปยังตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ยังช่วยลดแรงต้านด้านการค้าและสร้าง value chain ใหม่ที่เข้มแข็ง
“ทั้งนี้ ในการประชุมหารือและได้ข้อสรุปในทุกประเด็นดังกล่าวแล้วนั้น ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบทุกระยะ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะเจรจาดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งการค้าระหว่างประเทศและภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นส่วนสำคัญในการนำผลิตภัณฑ์เมดอินไทยแลนด์ ไปสู่ตลาดสหรัฐและตลาดโลกต่อไป” นายจิรายุ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ การเจรจาการค้าในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการทางภาษีที่กระทบต่อสินค้านำเข้าจากไทย โดยเฉพาะอัตราภาษีตอบโต้ที่สูงถึง 36% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 10–25% สะท้อนถึงแรงกดดันทางการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ตามรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2567 ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มูลค่า 41,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าทั้งปี 2566 ที่อยู่ที่ 40,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ไทยยังขยับขึ้นมาเป็นประเทศอันดับที่ 10 ของโลกที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯ พิจารณามาตรการทางการค้าเพิ่มเติมต่อไทย

นายจิรายุ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร ได้เชิญคณะทำงานด้านการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เข้าหารือร่วมกับทีมที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี นำโดย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบาย และนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ณ บ้านพิษณุโลก ก่อนกำหนดเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 17 เม.ย.นี้

โดยการหารือครั้งนี้เป็นการประเมินสถานการณ์ล่าสุด และกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการค้า การลงทุน และภาคการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายุทธศาสตร์ของไทย เช่น เกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมถึงการพิจารณารายชื่อคู่เจรจาสำคัญจากภาครัฐและเอกชนของสหรัฐฯ ที่จะพบปะในครั้งนี้ เพื่อให้การเจรจามีน้ำหนัก เป้าหมายชัดเจน และตอบโจทย์ความคาดหวังของสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (15 เม.ย.68) คณะทำงานจะเดินหน้าหารือกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง