
สะพัด! “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ไขก๊อก AOT เซ่นปม “คิง พาวเวอร์”?
ลือสะพัด “กีรติ กิจมานะวัฒน์” อาจลาออกจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT หลังมีกระแสข่าวถูกกดดันจากการบริหารงาน โดยเฉพาะประเด็น “คิง พาวเวอร์”
ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวในวงการ “คมนาคม” ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เกิดกระแสข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในระดับผู้บริหารของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT โดยพุ่งเป้าไปที่ นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระในปี 2570
รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ AOT มาจากแรงกดดันปัญหาที่เกิดขึ้นการการบริหารงาน โดยเฉพาะกรณีที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญของ AOT ขอเลื่อนการชำระค่าตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) ทั้งในส่วนของกิจการ ร้านค้าดิวตี้ฟรีและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ออกไปเป็นระยะเวลา 18 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2567 ถึง กรกฎาคม 2568 โดยให้เหตุผลว่าประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการขอคืนพื้นที่บางส่วนในการดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรี
ทั้งนี้ AOT ถือเป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจสนามบินรายเดียวของไทย และยังเป็นหนึ่งในหุ้นกลุ่มท่าอากาศยาน ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ล่าสุดต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากตลาดหุ้น โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงกว่า 20% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี หลังการประกาศผลประกอบการล่าสุด
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกและแนวทางสนับสนุน AOT ให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและไม่กระทบต่อเสถียรภาพขององค์กรในระยะยาว
ทั้งนี้ สถานการณ์การลาออกของนายกีรติ ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด และยังต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภายหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอาจมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำหรับประวัติโดยสังเขปและบทบาทใน AOT
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ เป็นผู้บริหารที่เติบโตจากสายงานภายในของ AOT โดยมีประสบการณ์ยาวนานในด้านบริหารจัดการท่าอากาศยาน และงานพัฒนาธุรกิจ ก่อนดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เมื่อช่วงกลางปี 2566 ถือเป็นผู้บริหารที่ขึ้นมารับตำแหน่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญขององค์กร ภายหลังการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิด-19
ภายใต้การบริหารของนายกีรติ AOT ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างรายได้ และวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาว มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Aviation) เพื่อรองรับการเติบโตของท่าอากาศยานในอนาคต ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลก และข้อจำกัดจากพันธมิตรธุรกิจรายสำคัญที่ส่งผลต่อฐานะการเงินของบริษัท