
“แพทองธาร” ถกทีมที่ปรึกษาฯ รับมือกำแพงภาษีสหรัฐ – จับตา “ทักษิณ” ร่วมวงหารือ
นายกฯ “แพทองธาร” รุดเข้าบ้านพิษณุโลกแต่เช้า ก่อนเปิดทำเนียบฯ ต้อนรับนายกฯ “อันวาร์” รับมือกำแพงภาษีทรัมป์ หลายฝ่ายจับตา “ทักษิณ” ร่วมวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (17 เม.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าบ้านพิษณุโลก เพื่อประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านนโยบาย โดยมีวาระสำคัญคาดว่า จะเป็นการหารือมาตรการรับมือกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนต่อการค้าโลกและภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ การประชุมมีขึ้นหลังจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ พร้อมด้วย นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้เข้าหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประเมินผลกระทบทางการเงินและการส่งออกของไทย ภายใต้มาตรการภาษีดังกล่าว
จากนั้นในเวลา 14:00 น. นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเปิดทำเนียบรัฐบาล ให้การต้อนรับ ดาโต๊ะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียน ซึ่งเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในลักษณะ Working Visit เพื่อหารือทวิภาคีและแนวทางความร่วมมือระดับภูมิภาค
หลายฝ่ายจับตามองว่า มีความเป็นไปได้ที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาประธานอาเซียน อาจเดินทางเข้าร่วมการหารือด้วยตัวเอง ณ ทำเนียบรัฐบาล หลังเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า จะร่วมสนับสนุนการหารือ ไทย-มาเลเซีย เพื่อรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่กระทบห่วงโซ่การผลิตในอาเซียน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงเป้าหมายในการประชุมของผู้นำไทยและมาเลเซียครั้งนี้ว่า ประเด็นสำคัญที่จะหารือและติดตามความคืบหน้า ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งการค้า การท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านความมั่นคง การพัฒนาพื้นที่ชายแดนและเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย – มาเลเซีย ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่าง 10 ประเทศ ตามกรอบข้อตกลงต่าง ๆ ในที่ประชุมหลายระดับในภูมิภาค
ซึ่งที่ผ่านมานักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในอาเซียน ปี 2568 จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นด้วยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งทั้ง 10 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 670 ล้านคน และมีการค้าขายระหว่างกันทั้งการนำเข้า และการส่งออกสินค้าที่หลากหลาย เช่น สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภค/บริโภค และสินค้าไฮเทค เป็นต้น