“พิชัย” ย้ำรอจังหวะเหมาะเปิดเกมเจรจา “สหรัฐ” จับตาค่า “เงินบาท” ยันไม่แทรกแซง

รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยังไม่กำหนดวันเยือนสหรัฐฯ ใหม่ ชี้หลายเรื่องยังผันผวน ต้องวางจังหวะให้พอดี “ไม่เร็วกว่าหรือช้ากว่าประเทศอื่น” เผย สหรัฐฯ จับตานโยบายค่าเงินทั่วโลก ไทยย้ำไม่แทรกแซง พร้อมวางแผนรองรับเศรษฐกิจหากชะลอตัว


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (22 เม.ย.68) ว่า หลังการแถลงข่าวของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการเลื่อนกำหนดการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ จากเดิมวันที่ 23 เม.ย. นี้​

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีการขยับกำหนดการเดินทางไปสหรัฐฯ จากเดิม โดยขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางไปสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ และเตรียมข้อมูลเพื่อให้การเจรจาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยย้ำว่าระดับปฏิบัติการยังเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากทีมในประเทศ และทีมที่อยู่ในต่างประเทศ ณ สถานเอกอัครราชทูตในสหรัฐฯ​

นายพิชัย กล่าวต่อว่า จากเดิมที่วางกรอบไว้ 90 วัน ตอนนี้เหลือแค่ 70 กว่าวันแล้ว มีข้อมูลเข้ามาเรื่อย ๆ ตนฟังความเคลื่อนไหวทุกวัน มีเงื่อนไขใหม่ ๆ เข้ามาตลอด ซึ่งก็ต้องรอดูประเทศที่มีน้ำหนักการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่าไทย ว่าเขาเจรจาอย่างไร เราค่อยหาจังหวะที่เหมาะสม ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงวันนี้ตอบยาก ทำให้ไม่มั่นใจว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไร​

เมื่อถูกถามว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้จะสามารถเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเจรจาการค้ารอบแรกได้หรือไม่ นายพิชัย ระบุว่า ยังอยู่ระหว่างประเมินความเหมาะสม

“ผมพูดตรง ๆ เราขออย่าให้เร็วกว่าคนอื่น อย่าช้ากว่าคนอื่น เร็วไปก็ไม่ดี และถ้าช้ากว่าคนอื่นก็ไม่ดี เหมาะสมที่สุดคือหัวขบวนเขาโดนอะไรบ้าง กลางขบวนโดนอะไร เราอยู่กลาง ๆ เกือบท้าย เราจะได้รู้ว่าควรจะทำอย่างไร” รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว​

สหรัฐฯ ห่วงเรื่องค่าเงิน แต่ไม่มองไทยเป็นผู้แทรกแซง

นายพิชัย เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ติดตามการเคลื่อนไหวของแต่ละประเทศว่า มีการแทรกแซง “ค่าเงิน” หรือไม่ ซึ่งไทยเราไม่แทรงแซงอยู่แล้ว ซึ่งในกรณีของไทยไม่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมแทรกแซง พร้อมมองว่าสหรัฐฯ ต้องการให้ค่าเงินของตนเองอ่อนของลงในระดับหนึ่ง เพื่อเสริมศักยภาพการส่งออก​

“ผมคิดว่าสหรัฐฯ ก็เหมือนทุกประเทศที่อยากให้ส่งออกได้มากขึ้น อยากเห็นค่าเงินอ่อนตามกลไกธรรมชาติ ไม่ใช่การแทรกแซง…เขาก็มีวิธีของเขาในการดูว่าใครทำหรือไม่ทำ”​ รองนายกฯและรมว.คลัง ระบุ

รัฐเตรียมมาตรการรับมือ หากเศรษฐกิจซวนเซ

ส่วนเศรษฐกิจในประเทศ นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลได้หารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเตรียมมาตรการรองรับในกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง โดยเฉพาะผลกระทบต่อการส่งออก ภาคการผลิต และการจ้างงาน​

“ตอนนี้เรามีการบ้านให้สภาพัฒน์ไปคิดว่า ถ้าไตรมาส 2 ไม่เป็นไปตามคาด ต้องรับมืออย่างไร… หากส่งออกมีปัญหา จะส่งผลถึงภาคผลิตและจ้างงานทันที”​

ส่วนเรื่องการกู้เงินเพิ่มเพื่อขยายเพดานหนี้สาธารณะ 70% นั้น รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวหากคิดว่าเศรษฐกิจลงจริงจะต้องมีการเตรียมการจ้างงาน การลงทุน ซึ่งการลงทุนจะต้องทำให้เศรษฐกิจได้รับประโยชน์ ทำให้ขนาดเศรษฐกิจสูงขึ้น และทำให้หนี้เล็กลง สำหรับปัจจุบันยังไม่มีโจทย์นี้ แต่ที่ว่าหากทำแล้วขนาดหนี้สาธารณะจะเกินเท่าไหร่ หรือ ไม่เกิน มันจะมีคำตอบเองว่าควรจะเกินหรือไม่เกิน​

Back to top button