
ครม. ไฟเขียวคลัง กู้ “ADB – AIIB” วงเงินกว่า 1.6 หมื่นล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน EEC
ครม. เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง กู้เงินจาก ADB และ AIIB รวม 16,331.94 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่ EEC ครอบคลุมโครงการทางหลวงและโครงสร้างพื้นฐานสนามบินอู่ตะเภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 เม.ย.68) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กู้เงินในนามรัฐบาลไทยจาก 2 สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) รวมวงเงินกว่า 16,331.94 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ครม. อนุมัติให้กู้เงินจาก ADB วงเงิน 68.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,440 ล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างทางยกระดับใหม่ 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมทั้งขยายถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) จาก 4 ช่องจราจรเป็น 8 ช่องจราจร
โครงการนี้มีวงเงินรวม 3,092.90 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้จาก ADB สัดส่วน 78.90% และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมทางหลวง 21.10% ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค พร้อมคำนึงถึงแนวทางโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ADB ยังอนุญาตให้กรมทางหลวงสามารถจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้าได้ โดยจะเริ่มเบิกจ่ายทันทีเมื่อสัญญาเงินกู้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ โครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2572
พร้อมกันนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินจาก AIIB วงเงิน 423.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,891.75 ล้านบาท) สำหรับโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ “เมืองการบินภาคตะวันออก” ภายใต้โมเดล PPP (รัฐร่วมทุนเอกชน)
โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบในหลักการมาตั้งแต่ปี 2561 และย้ำมติอีกครั้งในปี 2565 มีวงเงินลงทุนรวม 17,768 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้จาก AIIB ประมาณ 85% และงบประมาณสมทบจากภาครัฐ 15% ดำเนินการโดยกองทัพเรือ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
โดยทั้ง 2 โครงการมีการจัดทำร่างสัญญาเงินกู้เรียบร้อยแล้ว และผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยระบุให้ใช้อนุญาโตตุลาการเป็นกลไกระงับข้อพิพาท ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติตามมาตรฐานของทั้ง ADB และ AIIB