
นายกฯ สั่งคุมเข้มสินค้า 65 รายการ หวั่นถูกสวมสิทธิ์ส่งออกสหรัฐ
“แพทองธาร” ขันน็อต คุมเข้มการสวมสิทธิ์สินค้า 65 รายการ ส่งออกไปสหรัฐฯ มอบ “กรมการค้าต่างประเทศ” รับหน้าที่ออกใบรับรองถิ่นกำเนิดเพียงหน่วยเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 เม.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ได้เชิญทางกระทรวงพาณิชย์, กรมศุลกากร, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย เพื่อมาพูดคุยและเน้นย้ำถึงมาตรการสวมสิทธิ์ของสินค้าในไทย และกระบวนการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสินค้าไทย และการส่งออกของผู้ประกอบการไทย
โดยในระยะสั้น ทางกรมการค้าต่างประเทศ จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการหารือร่วมกับ US Custom and Border Protection (CBP) เพื่อวางหลักเกณฑ์ใหม่ในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า พร้อมทั้งเฝ้าระวังการสวมสิทธิ์เป็นสินค้าไทย จำนวน 65 รายการ 224 พิกัด ซึ่งส่วนมากเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้การตรวจสอบเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
ส่วนในระยะยาวขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นกับบริษัทที่มีการสวมสิทธิ์สินค้าไทยอย่างเด็ดขาด
“ดิฉันเชื่อมั่นว่าหากเกิดความเข้มงวดในการตรวจสอบถิ่นกำเนิดของสินค้า จะทำให้ปริมาณการสวมสิทธิ์สินค้าลดลงเป็นอย่างมาก ภายในระยะเวลา 90 วัน และนี่จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในไทย รวมถึง SMEs ไทยในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สินค้าไทยและวัตถุดิบไทย ส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการค้าของไทยอย่างแท้จริงค่ะ” นายกรัฐมนตรี ระบุ
ขณะที่ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าเฝ้าระวังดังกล่าวไปสหรัฐฯ ต้องใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่สามารถออกหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป รวม 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ 2. หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 3. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งพบปัญหาว่า มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาผ่านไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ โดยใช้หนังสือรับรองฯ ของไทย ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นข้อกังวลของสหรัฐฯ
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ผลหารือที่ประชุมได้สรุปให้ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานออกหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป สำหรับสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐฯ เพียงหน่วยงานเดียว
โดยกรมค้าต่างประเทศ จะดำเนินการปรับปรุงกระบวนการการตรวจสอบก่อนออกใบรับรอง ตั้งแต่ตรวจโรงงานอย่างละเอียด และตรวจเอกสารการส่งออกอย่างเข้มงวด สำหรับสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง บูรณาการทำงานร่วมกับกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้หารือกับศุลกากรสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection: CBP) ถึงข้อกังวลและแนวทางดำเนินการร่วมกัน โดยจะจัดทำเป็นแนวทางการทำงานและการตรวจสอบร่วมกัน เพื่อให้ศุลกากรสหรัฐฯ ยอมรับการตรวจสอบของประเทศไทย โดยศุลกากรสหรัฐฯ จะอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของไทยต่อไป
“นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ร่วมมือกันแก้ปัญหาในในช่วงระยะเวลา 90 วันนี้ให้แล้วเสร็จ และให้หาแนวทางในอนาคตที่จะมีการป้องกันสินค้าที่จะมาสวมสิทธิแล้วส่งออกไปยังประเทศปลายทางอื่นๆ ด้วยเพราะเนื่องจากกฎหมายที่ผ่านมาอาจจะล้าสมัยหรือไม่ได้ครอบคลุมการดำเนินการที่ผิดปกติหรือผิดกฎหมายดังเช่นปัจจุบัน” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์รับจะไปหาแนวทางการใช้กฎหมายหรือมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิด โดยจะดำเนินการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ดำเนินการแล้วระยะหนึ่งจะดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ความสำคัญอย่างยิ่งว่า ในการออกมาตรการต่าง ๆ นั้น จะต้องไม่กระทบต่อการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกของไทย และที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ส่งออกไทยที่ปฏิบัติถูกต้องอยู่แล้ว จะต้องสามารถใช้บริการหรือออกหนังสือรับรองฯ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมีประสิทธิภาพเช่นเดิม