
“ศิริกัญญา” จี้รัฐเปิดแผนใช้เงินกู้ “5 แสนล้าน” ย้ำต้องชัดเจนก่อนเพดานขยายหนี้
รองหัวหน้าพรรคประชาชน ไม่ติดถ้าต้องกู้! แต่ขอรัฐบาลแจงแผนใช้งบ “5 แสนล้าน” ให้ชัด ชี้วิธีการสำคัญกว่าเม็ดเงิน แนะปรับร่างงบปี 69 รับมือเศรษฐกิจชะลอจากผลกระทบภาษีสหรัฐฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 เม.ย.68) ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบ “ภาษีทรัมป์” โดยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลยังไม่ระบุแหล่งที่มาของเม็ดเงินดังกล่าวอย่างชัดเจนว่าจะมาจากการกู้หรือไม่ เพราะมีความเห็นโดยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุอาจใช้เม็ดเงินจากงบประมาณปี 2568 ที่เตรียมไว้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 150,000 ล้านบาทมาใช้ ซึ่งก็อาจทำให้ถ้าจะต้องกู้จริง อาจจะกู้น้อยลง หรือไม่จำเป็นต้องกู้เลยก็ได้
นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า หากมีการจัดสรรงบประมาณปี 2568 ใหม่ ก็อาจจัดหาเม็ดเงินเพิ่มเติมได้อีก 5 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีทางเลือกสำคัญ คือการปรับร่างงบประมาณปี 2569 ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น และมั่นใจว่าหากจำเป็นต้องเลื่อนการเสนองบเข้าสภาฯ ออกไป 1-2 สัปดาห์ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งสามารถใช้เวลาพิจารณาให้กระชับยิ่งขึ้นได้
“ก้อนใหญ่ที่สำคัญที่สามารถจัดใหม่ได้เลยตอนนี้คืองบประมาณปี 69 ที่กำลังเข้าสู่สภาฯ โดยกำลังรับฟังความเห็นอยู่ และมีกำหนดที่จะกลับเข้าให้ ครม. เห็นชอบ ก่อนส่งมาที่สภาฯ สามารถจัดใหม่ได้เลย เพื่อใช้เม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่จะต้องถดถอย หรือชะลอตัว อันเนื่องมาจากสงครามทางการค้า ถ้าจัดใหม่ได้สัก 300,000 ล้านก็ไม่จำเป็นต้องมีการกู้เลย” รองหัวหน้าพรรคประชาชน ระบุ
เมื่อถามว่า งบ 5 แสนล้านบาทเพียงพอหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ยากที่จะตอบ เพราะยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เรามีประสบการณ์มาแล้วว่า ถ้าเลือกวิธีกระตุ้นผิด ผลจะไม่เกิดกับเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างการแจกเงินหมื่นครั้งแรก ใช้ที่ 145,000 ล้านบาท แต่ว่าก็ไม่เห็นว่าจะช่วยให้ GDP โตขึ้นได้อย่างที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ ดังนั้น “วิธีการ” สำคัญมาก ว่า 5 แสนล้านบาทนั้นจะเอาไปทำอะไร กระตุ้นด้วยวิธีการใด ทั้งนี้เห็นว่า เป้าหมาย GDP 3% ยังเป็นเรื่องยาก โดยอิงจากประมาณการของ IMF ที่ประเมิน GDP ไทยปีนี้ไว้ที่ 1.8%
“จะขึ้นไป 3% จะต้องใช้เม็ดเงินมากกว่า 5 แสนล้านบาทแน่นอน แต่ถ้าประคองไม่ให้ตกหนักมาเกินไป อยู่ที่ประมาณ 2% นิดๆ คิดว่า 5 แสนล้านบาทนี้จะทำได้แน่นอน” รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว
นางสาวศิริกัญญา เรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจง “แผน” การใช้เงินต่อสาธารณะให้ชัดเจน ก่อนที่จะคิดเรื่องที่จะกู้เงินใหม่ หรือจะขยายเพดานหนี้สาธารณะ ช่วยประกาศแผน ที่ชัดเจนให้สาธารณชนรับทราบก่อนว่ารัฐบาลจำเป็นต้องนำเงินไปใช้เรื่องใด จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด เราเชียร์เต็มที่ถ้ารัฐบาลอยากนำเงินไปใช้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องทำแบบนี้เท่านั้น จึงจะไว้วางใจให้รัฐบาลกู้หรือขยายเพดานหนี้สาธารณะ
นางสาวศิริกัญญา ยังแสดงจุดยืนว่า พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในฐานะฝ่ายค้าน หากรัฐบาลมีแผนที่ชัดเจนและต้องการความคิดเห็นหรือความช่วยเหลือในสภาฯ โดยมองว่าการยุบสภา ไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ รวมถึงการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้นวันนี้คงจะต้องให้รัฐบาลนี้ต้องทำงาน
สำหรับกรณีที่ “ทีมไทยแลนด์” เลื่อนการเดินทางไปเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า กำลังติดตามใกล้ชิด โดยพบว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก มีวันเจรจาที่ชัดเจนแล้ว แต่ฝั่งไทยกลับมีความสับสนที่เลวร้ายกว่านั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร กับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าคณะเจรจา พูดขัดกันเอง
นายกรัฐมนตรีบอกว่า ที่ต้องเลื่อนเพราะมีเอกสารข้อมูลบางอย่างที่สหรัฐฯ ขอเพิ่มเติมก็เลยต้องเลื่อน แต่ว่านายพิชัย บอกว่า เราไม่รีบจะรอคิวกลาง ๆ เพื่อรอดูการต่อรองของประเทศอื่นก่อน
“ซึ่งถ้านายกฯ ไม่พูดอะไรก่อนหน้านั้น และฟังนายพิชัยคนเดียว ก็อาจจะเชื่อว่าการเจรจาวางยุทธศาสตร์แบบนี้จริง ๆ ว่าอยากจะได้คิวกลาง ๆ และจะเชื่อมากกว่านี้ถ้าบอกมาเลยว่า จะประชุมเจรจาวันไหน อาจจะเป็นเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนก็ได้ แต่พอนายกฯ พูดอย่าง รองนายกฯ พูดอย่าง และสุดท้ายยังไม่มีกำหนดวันที่ชัดเจน เป็นการเลื่อนแบบไม่มีกำหนดแบบนี้ก็ยิ่งสร้างความสับสน “ดิฉันมั่นใจแล้วว่าเอาเข้าจริงรัฐบาลไม่ได้ ยังไม่ได้มีการคอนเฟิร์มวันนัดกับทางสหรัฐฯ แล้วพอนัดไปแล้วและเขาไม่ตอบรับ พอใกล้วันก็เลยจำเป็นที่จะต้องเลื่อนกำหนดการออกไป…” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
รองหัวหน้าพรรคประชาชน ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา พร้อมระบุว่า กลยุทธ์ “Wait and See” ของรัฐบาลอาจได้ผลที่ดี แต่ถึงอย่างไรก็ต้องการความมั่นใจว่า สามารถแก้ปัญหาและกำหนดวันเจรจาได้จริง
“เพียงแต่ว่าก็ช่วยทำให้เรามั่นใจว่าที่มันติดขัด มันสามารถที่จะแก้ไขได้ และก็สามารถยืนยันกับเราให้ได้ว่า กำหนดการที่แท้จริง ควรจะต้องเป็นเมื่อไหร่กันแน่ และสหรัฐฯ มีปัญหาอะไรกับเราหรือเปล่า ที่จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข เพื่อในท้ายที่สุดทำให้เราได้เข้าสู่การเจรจาได้อย่างราบรื่น” นางสาวศิริกัญญา กล่าว