
“เวิลด์แบงก์” หั่น GDP ไทยปี 68 เหลือ 1.6% รับแรงกดดันการค้า-ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก
ธนาคารโลก ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2568 เหลือเพียง 1.6% จากแรงกดดันทางการค้าและความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (28 เม.ย.68) ว่า ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยประเมินว่าอัตราการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงจะชะลอลงเหลือ 1.6% ในปี 2568 หลังจากเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.5% ในปี 2567 โดยได้รับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนเอกชน
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความคืบหน้าในการลดอัตราความยากจนก็มีแนวโน้มชะลอลง โดยคาดว่าอัตราความยากจนลดลงเหลือ 7.1% ในปี 2567 จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมาตรการโอนเงินสดครั้งเดียวผ่านโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 14.6 ล้านคน ซึ่งมีส่วนกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน และช่วยลดสัดส่วนประชากรยากจนลงประมาณ 3 จุดเปอร์เซ็นต์
สำหรับการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอลง ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการเติบโต ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะชะลอลง จากการลดลงของรายได้และกระบวนการลดภาระหนี้ของครัวเรือน
ทั้งนี้ แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการสนับสนุนภาคธุรกิจแบบตรงเป้าหมาย จะช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วน แต่ รายงาน Macro Poverty Outlook ของธนาคารโลก ยังประเมินว่า ในปี 2569เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 1.8%
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปีคาดว่า ในปี 2568 จะขยับขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.8% แต่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลทั่วไปคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 (FY25) จากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งลงทุนภาครัฐ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะมีแนวโน้มสูงขึ้น
ในทางกลับกัน ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะขยายตัวเป็น 3.4% ของ GDP ในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากการค้าบริการ แม้ว่าดุลการค้าสินค้าจะอ่อนตัวลง
รายงาน Macro Poverty Outlook ระบุอีกว่า เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว ไทยควรลดเงินอุดหนุนราคาพลังงาน ปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้และความเป็นธรรม รวมถึงเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และทุนมนุษย์ พร้อมกับให้การสนับสนุนแบบตรงเป้าหมายแก่ครัวเรือนที่มีความเปราะบาง
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคงโน้มเอียงไปในทิศทางลบ จากเหตุแผ่นดินไหวล่าสุดและความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการชะลอลงของการลงทุนและอุปสงค์ภายนอก
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างลึกซึ้ง โดยมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก คิดเป็นราว 10% ของ GDP การเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐฯ, จีน และสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนในไทยอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะยังประเมินได้ยากในขณะนี้ แต่ในรายงาน Macro Poverty Outlook เตือนว่าความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยต่อแรงกระแทกจากภายนอกยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด