
“ลวรณ” รับ GDP ปีนี้โตไม่ถึง 3% หวัง กนง. ลดดอกเบี้ย ช่วยเศรษฐกิจไทย
ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับเศรษฐกิจไทยปี 2568 ขยายตัวต่ำกว่าเป้า เหตุปัจจัยเสี่ยงสูงจากต่างประเทศ หวังนโยบายการเงินผ่อนคลายช่วยประคอง GDP ยันแนวคิดกู้เงิน 5 แสนล้านยังอยู่ระหว่างประเมินความจำเป็นและผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (29 เม.ย.68) ว่า นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมงานครบรอบ 150 ปี กระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ค.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในงานดังกล่าว กระทรวงการคลังจะแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ด้วย
ซึ่งกระทรวงการคลังจะยังไม่นำสมมติฐานเกี่ยวกับกำแพงภาษีศุลกากรชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกา เข้าไปประเมินปรับ GDP ในรอบไตรมาสแรก พร้อมยอมรับว่า GDP ไทยปี 2568 โตไม่ถึง 3% แน่นอน ทำให้กำลังหามาตรการที่จะเสริมเพิ่มเติมเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ เพื่อลดช่องว่าง GDP ที่โตน้อยลง ไม่ให้มีช่องว่างห่างจากเป้าหมายของรัฐบาลมากจนเกินไป
ส่วนกรณีแนวทางพยุงเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังมีแนวทางกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น นายลวรณ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเพียงตัวตั้งต้นหรือตุ๊กตา เพื่อประเมินภาพรวมว่า หากกระตุ้นเศรษฐกิจในกรอบวงเงินงบประมาณเท่านี้ จะกระทบหนี้สาธารณะประมาณ 3% สิ่งสำคัญคือการจัดลำดับความสำคัญการใช้เงินของประเทศ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การลงทุน ประเทศต้องการเร่งดำเนินการเรื่องใดก่อน ต้องใช้เงินเท่าไหร่ เงินในมือมีอยู่เท่าไหร่จากงบประมาณที่มาจากการเกลี่ยและการจัดสรร ดังนั้นส่วนที่ขาดหรือแตกต่างอยู่จึงเป็นส่วนที่ต้องการกู้ ซึ่งตอนนี้กำลังหาจุดเริ่มต้นของกระบวนการปรับตัว ในการรับมือในบริบทการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิต การลงทุน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงได้
“การกู้ทำให้มีหนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ตราบใดที่รู้ว่าจะกู้ไปทำอะไร และมีความสามารถในการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ตรงตามกำหนด” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ
ส่วนกรณีธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปีนี้เหลือ 1.6% ทางกระทรวงการคลังมองว่า เป็นการคาดการณ์ที่ต่ำเกินไปหรือไม่นั้น สิ่งที่มหาอำนาจสองประเทศมีปัญหากัน ส่งผลกระทบต่อการค้าของโลกแน่นอน ดังนั้น GDP ที่ตั้งใจไว้เพื่อไปให้ถึง 3% คงยากแล้ว
นายลวรณ ว่า ดังนั้นสิ่งที่มองต่อไปคือ ทำอย่างไรถ้า GDP ไปไม่ถึง 3% ต้องดำเนินการให้มีระยะห่างจาก 3% ให้น้อยที่สุด ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายไทยหากไม่ลดลง จะมีผลต่อ GDP ไทยหรือไม่ ยอมรับว่ากระทบ GDP แน่นอน เพราะนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังควรต้องช่วยเหลือกัน
“วันนี้เร็วเกินไปที่จะบอกว่า GDP เหลือ 1-1.5% หรือไม่ในปีนี้ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า สุดท้ายไทยจะเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐเท่าไหร่ ในสินค้าอะไรบ้าง การเจรจาทีมไทยแลนด์ที่จะไปคุยจะประสบความสำเร็จมากหรือน้อยแค่ไหน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เรียกประชุมเพื่อรับมือกำแพงภาษีสหรัฐอยู่ตลอด มีการระดมสมองจากหลายภาคส่วน ประเด็นสำคัญคือ สหรัฐฯ เขาไม่ได้เจรจากับเราแค่ในมิติการค้าเท่านั้น เพราะมีทั้งเรื่องการต่างประเทศ ความมั่นคง ทุกเรื่องสามารถเป็นเหตุในการเจรจาได้ทั้งสิ้น เป็นเรื่องของกระทรวงอื่น ๆ ด้วย” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ
นายลวรณ กล่าวถึงความคืบหน้าธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งเรื่องผ่านมาทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แล้ว ส่วนกรณีจะเพิ่มรายชื่อผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกของ ธปท. อีก 2 รายหรือไม่นั้น ธปท. เป็นผู้พิจารณาไลเซนส์ (License) ผ่านทางคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเป็นผู้พิจารณา ดังนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาตามที่ ธปท. ส่งรายชื่อที่ผ่านการพิจารณาแล้ว มาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติเท่านั้น เนื่องจากทางคณะกรรมการฯ น่าจะพิจารณามาอย่างรอบคอบ แต่ขณะนี้ตนเองยังไม่ทราบว่า มีรายชื่อที่ผ่านการคัดเลือกกี่แห่ง ต้องรอ สศค. ส่งเรื่องมาก่อน
สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้นไทยจะมีเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ปลัดกระทรวงการคลัง มองว่า ยังไม่ใช่จังหวะที่จะเพิ่มเติมมาตรการ เพราะเท่าที่เคยประกาศมาตรการไปแล้ว ยังส่งผลดีต่อตลาดหุ้นอยู่ ส่วนกรณีกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเลือกหุ้นรัฐวิสาหกิจที่คลังอาจพิจารณาลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือขายออกไปนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่ใช่เวลาที่จะรีบดำเนินการ
เมื่อถูกถามถึงกรณีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ปล่อยกู้บริษัท สบายเทคโนโลยี (SABUY) แต่ SABUY นำเงินกู้ไปปล่อยกู้บริษัทลูกและมีการดำเนินการไม่ตรงวัตถุประสงค์การกู้นั้น ทำให้ต้องเจรจากับไอแบงก์เพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป 10 ปีนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงขอตรวจสอบรายละเอียดก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่