“บรรหาร ศิลปอาชา” อนิจกรรมแล้ว หลังเข้ารักษาตัวที่ศิริราช

วันนี้ (23 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการเปิดเผยของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทย ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 04.42 น. ที่ผ่านมา ด้วยวัย 83 ปี 8 เดือน


วันนี้ (23 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการเปิดเผยของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทย ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 04.42 น. ที่ผ่านมา ด้วยวัย 83 ปี 8 เดือน

ขณะที่ญาติเตรียมทำการเคลื่อนศพไปยังวัดเทพศิรินทร์ ศาลา 14 โดยจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพวันนี้ เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ นายบรรหาร เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ด้วยอาการภูมิแพ้ หอบหืดกำเริบ เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา โดยอาการอยู่ในขั้นวิกฤตตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษา

อย่างไรก็ตาม นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จะเป็นผู้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

 

ทั้งนี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา เกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊ เดิมมีชื่อว่า นายเต็กเซียง แซ่เบ๊ สมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา และเป็นหญิง 2 คน คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และ น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา

บรรหาร เข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516 และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2518 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2519 และ ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง

ต่อมานายบรรหารขึ้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคชาติไทย ในปี พ.ศ. 2523 และในปีเดียวกันนั้น เขาถูกนายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง และคณะรวม 42 คน ยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่าเขาขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และสำเร็จการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยกคำร้องดังกล่าว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 นายบรรหารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายบรรหารได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ในปี พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสมัยแรก คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเดิม อีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายบรรหาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

การบริหารราชการแผ่นดินในดำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขา ดำเนินไปด้วยความไม่ราบรื่น จนกระทั่งในวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2539 เขาถูกพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้ขอให้เขาลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้ตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 แท

นายบรรหารมีสมญานามมากมาย จากลักษณะเด่นหลายประการ เช่น มีฐานเสียงหนาแน่นอย่างที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี มีสถานะเป็นเจ้าถิ่นจนได้สมญาว่า “มังกรสุพรรณ” หรือ “มังกรการเมือง” และเนื่องจากมีลักษณะคล้าย เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกนายบรรหารสั้น ๆ ว่า “เติ้ง” หรือ “เติ้งเสี่ยวหาร” และ”ปลาไหล” เนื่องจากเป็นคนกลับกลอกไปมาไม่แน่นอน

Back to top button