ไม่ดูจะพลาดมาก! 10 หุ้นรับผลกระทบรัฐขึ้นภาษีเครื่องดื่ม
ไม่ดูจะพลาดมาก! 10 หุ้นรับผลกระทบรัฐขึ้นภาษีเครื่องดื่ม
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ท่ามกลางการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งเน้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ แต่ในทางตรงกันข้าม สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียม ครม. ให้ขึ้นภาษีเครื่องดื่มประเภทไม่มีแอลกอฮอล์ (Non Alcohol) เฉพาะที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐาน อาทิ น้ำอัดลม, ชาเขียว, กาแฟ, เครื่องดื่มชูกำลัง, นมเปรี้ยว, นมถั่วเหลือง และน้ำผลไม้ จากเดิมที่จัดเก็บภาษี เครื่องดื่มที่มีความหวาน แต่มิได้กำหนดเกณฑ์ของปริมาณน้ำตาลในเครื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการจัดเก็บในเครื่องดื่มประเภทประเภทดังกล่าวข้างต้น อัตรา 20% ของราคาขาย ยกเว้นชาเขียวและน้ำผลไม้มีส่วนผสมตามที่กรมสรรพากรกำหนดที่ไม่เคยเรียกเก็บ
ทั้งนี้ หาก ครม. อนุมิติ คาดว่าการจัดเก็บภาษีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามปริมาณน้ำตาลคือ
1) เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นจากปัจจุบัน และทำให้ราคาขายเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขายปลีกปัจจุบัน (ที่รวมภาษีอยู่แล้ว 20%) ซึ่งเครื่องดื่มในปัจจุบันที่มีปริมาณน้ำตาลในเกณฑ์นี้มีเฉพาะชาเขียว ซึ่งไม่เคยถูกจัดเก็บมาก่อน ซึ่งหากมีการถูกเก็บภาษีในรอบนี้ ชาเขียวจะถูกเก็บไม่น้อยกว่า 20%
2) เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขายปลีก ซึ่งเครื่องดื่มที่เข้าข่ายที่จะต้องถูกจัดเก็บเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เก็บอยู่แล้ว คือ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันถูกจัดเก็บอยู่แล้วในอัตรา 20% หากมีการจัดเก็บรอบนี้เพิ่มอีก ไม่น้อยกว่า 25% จะทำให้ภาษีจ่ายโดยรวมเป็น 36% ส่วนสินค้าที่ไม่เคยถูกจัดเก็บเลยคือน้ำดื่มผลไม้ ให้ความหวานตามธรรมชาติ และพวกเครื่องดื่มเสริมความงาม (functional drink) จะถูกเก็บในรอบนี้เป็นครั้งแรก
คาดรัฐจะเก็บภาษีสรรมพาสามิตเพิ่มขึ้นราว 10% จากปัจจุบัน ที่ เก็บภาษีจากเครื่องดื่มประเภท Non Alcohol ทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท/ปี (คิดเป็นเพียง 2.3% ของภาษีสรรพสามิตทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็นภาษีที่ได้จากเครื่องดื่มประเภท Alcohol 50% และประเภท Non Alcohol อีก 50%) ทั้งนี้ปัจจุบันมูลค่าตลาดของ เครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์โดยรวมแต่ละปีอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น น้ำอัดลมมีมูลค่ามากที่สุดราว 42% รองลงมาคือน้ำดื่ม 23% เครื่องดื่มชูกำลัง 12.6% ชาพร้อมดื่มและน้ำผลไม้มีสัดส่วนใกล้กันที่ 6.3% กาแฟ 5% และเครื่องดื่มสมุนไพร ราว 4.8% เป็นต้น
ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนน่าจะมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย คาดว่าผู้บริโภคน่าจะมีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นราคาขาย (High price Elasticity) ดังนั้นผู้ผลิตน่าจะแบกรับภาระต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นบางส่วน และผลักให้ผู้บริโภคเพียงบางส่วน ซึ่งโดยรวมคาดว่าน่าจะกระทบต่อต้นทุน และ Gross Margin ของผู้ผลิตเครื่องดื่มดังกล่าว โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาด อาทิ ICHI, OISHI, SAPPE , MALEE, CBG และ SSC เป็นต้น โดยหากพิจารณารายสินค้าพบว่า เครื่องดื่มชูกำลัง น่าจะกระทบมากสุด เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 18 กรัม/100 มิลลิลิตร นำโดย CBG ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มยาชูกำลัง (คาราบาว เกลือแร่) 100%
รองลงมาคือเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้และ Functional Drink ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 12-15 กรัม/100 มิลลิลิตร น่าจะกระทบต่อ MALEE และ SAPPE (ราคาเป้าหมาย 20.00 บาท) แต่เนื่องจาก SAPPE มีสัดส่วนการขายในประเทศเพียง 40%ของยอดขายรวม อีก 60% ส่งออกตลาดต่างประเทศ คาดว่าผลกระทบต่อมาตรการภาษีจะมีเฉพาะส่วนที่ขายในประเทศ
ตามมาด้วยเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 10-12กรัม/100 มิลลิลิตร นำโดย SSC มีสัดส่วนการผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม อาทิ EST และ 100PLUS และเครื่องดื่มชา LIPTON เครื่องดื่มแรงเยอร์ เป็นต้น
เครื่องดื่มชาเขียว มีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับ 7-9 กรัม/100 มิลลิลิตร มี 2 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจ คือ ICHI และ OISHI ทั้งนี้คาดว่า ICHI (ราคาเป้าหมาย 14.90 บาท) น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากธุรกิจกระจุกตัวในธุรกิจเครื่องดื่ม 100% ของรายได้รวม และเน้นขายเพียงตลาดในประเทศทั้งหมด รองลงมาคือ OISHI (ราคาเป้าหมาย 92.50 บาท) เนื่องจากมีการกระจายธุรกิจ โดยธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวมีสัดส่วน 50% และร้านอาหาร 50%
ส่วนกลุ่มฯ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการขึ้นภาษีในครั้งนี้ คือ ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางการจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าว อันได้แก่ TNP, BIGC, CPALL และ MAKRO เป็นต้น แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในวงจำกัดแต่ไม่มากนัก เนื่องจากสัดส่วนยอดขายเครื่องดื่มต่อยอดขายรวมของบริษัทไม่มากนัก นำโดย TNP มีสัดส่วน มากที่สุดราว 10% ขณะที่ BIGC CPALL MAKRO มียอดขายไม่เกิน 5% ต่อยอดขายรวม