วิตก! Prompt-Pay ฉุดหุ้นกลุ่มแบงก์ลงแรงเกินไป
วิตก! Prompt-Pay ฉุดราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ลงแรง
นักวิเคราะห์บล.เคจีไอ ระบุว่า ข้อตกลงที่จะนำบริการ Prompt-Pay มาใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2016 ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะทำให้รายได้ของกลุ่มธนาคารลดลงและทำให้ราคาหุ้นธนาคารปรับตัวลงแรง มองว่าแรงเทขายจากเรื่องนี้รุนแรงเกินไป เพราะธนาคารยังคงมีรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนอยู่บ้างในขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานน่าจะลดลงได้ ยังคงเลือก TISCO เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มจาก platform ที่มีลักษณะเฉพาะ และ SCB จากความสามารถในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมอื่นมาชดเชยค่าธรรมเนียมที่ลดลง
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอัตราค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านบริการ Prompt-Pay (เก็บสูงสุด 10 บาท) จะดูเหมือนลดลงเยอะ แต่ผลกระทบจริงๆ กลับไม่ได้แย่ขนาดนั้น ทั้งนี้ รายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนเงิน (รวมทั้งบัญชีบุคคลและบริษัท)อยู่ที่ประมาณ 3-4% ของรายได้รวมของธนาคารและในกรณีเลวร้ายที่สุดที่เราสมมติให้รายได้ส่วนนี้เป็นศูนย์ ดังนั้นจะกระทบกับกำไรสุทธิแค่ประมาณ 6-7%
KBANK มีส่วนแบ่งตลาด I-Banking และ M-Banking มากที่สุด
เมื่อดูจากจำนวนบัญชีเงินฝากที่ธนาคารใหญ่ และจำนวนผู้ใช้ I-Banking และ M-Banking พบว่า KBANK มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในธุรกรรม I-Banking และ M-Banking โดยมีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 9.0 ล้านบัญชี (ส่วนแบ่งตลาด 36%) โดยในจำนวนนี้ มีประมาณ 7 ล้านบัญชีเป็นบัญชีที่ใช้งาน M-Banking ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาด M-Banking ที่สูงถึง 61%
ยอดโอนเงินต่อธุรกรรมประมาณ 10,000 บาท มีนัยว่าแบงก์จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมละ 2 บาท
ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันจากอัตราค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่ลดลง แต่เราไม่คิดว่าค่าธรรมเนียมประเภทนี้จะหายไปจากธนาคารโดยสิ้นเชิง เพราะธนาคารจะยังคงเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมได้ ซึ่งจากข้อมูล M-Banking ของ ธปท. พบว่าค่าเฉลี่ยยอดโอนเงินต่อธุรกรรมอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท ซึ่งหากยังเป็นเช่นนั้นต่อไป ธนาคารก็ยังสามารถจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมได้เฉลี่ยธุรกรรมละ 2 บาท หากมีการนำระบบค่าธรรมเนียมใหม่มาใช้ ทั้งนี้ในระยะยาวจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น บวกกับความสามารถในการหารายได้ค่าธรรมเนียมประเภทอื่น และ ต้นทุนการดำเนินงานที่ประหยัดได้จากการบริหารจัดการเงินสดลดลงจะช่วยชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนที่ลดลง
ขณะที่แรงจูงใจให้ผู้บริโภคมาลงทะเบียนในระบบ Any-ID ไม่ได้มีแค่เรื่องค่าธรรมเนียมที่ลดลงเท่านั้น แต่ประเด็นเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวก็เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้สมัครใช้งานบนระบบใหม่นี้จะส่งผลกระทบระยะยาว ส่วนผลกระทบต่อธนาคารขึ้นอยู่กับความเร็วของการที่ผู้ใช้เปลี่ยนจากการใช้บริการแบบเดิมมาเป็นระบบ Any-ID เรายังคงมุมมองว่าการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมจะส่งผลกระทบกับกำไรสุทธิของธนาคารประมาณ 2-4% โดยกำไรของธนาคารใหญ่จะถูกกระทบมากกว่าธนาคารเล็ก เรายังคงเลือก TISCO เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มจาก platform ที่มีลักษณะเฉพาะ และ SCB จากความสามารถในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมอื่นมาชดเชยค่าธรรมเนียมที่ลดลง สำหรับความเสี่ยง NPLs ที่แกว่งตัวสูงขึ้น เกิดความล่าช้าในการใช้จ่ายภาครัฐ GDP โตต่ำกว่า 3% และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง
อนึ่ง ราคาหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ปิดวานนี้(16 มิ.ย.) อยู่ที่ 2.18 บาท ปรับตัวลง 0.06 บาท หรือ 2.68% มูลค่าซื้อขาย 461.21 ล้านบาท
ราคาหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ปิดวานนี้(16 มิ.ย.) อยู่ที่ 132 บาท ปรับตัวลง 3.00 บาท หรือ 2.22% มูลค่าซื้อขาย 1,438.58 ล้านบาท
ราคาหุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ปิดวานนี้(16 มิ.ย.) อยู่ที่ 16.60 บาท ปรับตัวลง 0.30บาท หรือ 1.78% มูลค่าซื้อขาย 780.55 ล้านบาท
ราคาหุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ปิดวานนี้(16 มิ.ย.) อยู่ที่ 162.50 บาท ปรับตัวลง 5 บาท หรือ 2.99% มูลค่าซื้อขาย 1,382.50 ล้านบาท
ราคาหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ปิดวานนี้(16 มิ.ย.) อยู่ที่36 บาท ปรับตัวลง 0.75 บาท หรือ 2.04% มูลค่าซื้อขาย 27.48 ล้านบาท
ราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ปิดวานนี้(16 มิ.ย.) อยู่ที่158.50 บาท ปรับตัวลง 6 บาท หรือ 3.65% มูลค่าซื้อขาย 1,383.36 ล้านบาท