พาราสาวะถีอรชุน

ไม่มีอะไรพลิกโผสำหรับรายชื่อครม.ประยุทธ์ 3 หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง โดยทุกรายชื่อเป็นไปตามโผที่มีการคาดหมายไว้ก่อนหน้า สรุปแล้วมีรัฐมนตรีหน้าใหม่เข้ามาจำนวน 10 ราย นำทีมโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แน่นอนว่ามีภารกิจใหญ่หลวงรออยู่ข้างหน้า จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องขึ้นจากเดิม


ไม่มีอะไรพลิกโผสำหรับรายชื่อครม.ประยุทธ์ 3 หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง โดยทุกรายชื่อเป็นไปตามโผที่มีการคาดหมายไว้ก่อนหน้า สรุปแล้วมีรัฐมนตรีหน้าใหม่เข้ามาจำนวน 10 ราย นำทีมโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แน่นอนว่ามีภารกิจใหญ่หลวงรออยู่ข้างหน้า จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องขึ้นจากเดิม

ส่วนคนที่บัญชาการรัฐนาวาอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประกาศหนักแน่น ครม.ใหม่ต้องทำงานหนัก ขับเคลื่อนงานทั้งหมด ก่อนที่จะบอกว่าในอนาคตอาจมีปรับอีก แสดงว่าเข้าใจวิถีของเก้าอี้ผู้บริหารประเทศที่มีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้านพี่ใหญ่อย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็รีบติ๊ดชึ่งทันทีว่าการตัดสินใจปรับเปลี่ยนทั้งหมดเป็นเรื่องของบิ๊กตู่แต่เพียงผู้เดียว

ไม่รู้ว่าเป็นการเอาตัวรอดหรือเปล่า แต่คงไม่ เพราะบิ๊กป้อมหยอดคำหวานไปถึงน้องเล็กแห่งบูรพาพยัคฆ์ว่า ถ้าปรับแล้วไม่ดีขึ้นนายกฯจะทำทำไม พร้อมฉายภาพเป็นฉากๆ รัฐมนตรีบางคนมีความตั้งใจแต่ไม่เกิดความเชื่อมั่น ดังนั้น จึงต้องมีการขยับ ก่อนที่จะอ่านใจคนที่ถูกปรับออกคงมีบ้างที่จะไม่พอใจ ซึ่งก็น่าจะเป็นการรู้ล่วงหน้าแล้วว่าใครบ้างที่จะฟาดงวงฟาดงา

จับสัญญาณได้จาก “หม่อมอุ๋ย”หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ที่กลายเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีผู้ที่อาจถูกค่อนขอดว่าประสบความล้มเหลวจากการเข้ามาช่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลรัฐประหารสองยุคจากคมช.สู่คสช. โดยเจ้าตัวบอกว่า ไม่ได้มีใครมาทาบทามให้ไปนั่งเป็นที่ปรึกษานายกฯตามที่ปรากฏเป็นข่าว ก่อนที่จะทิ้งระเบิดตูมใหญ่

คงขอไม่รับตำแหน่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้หลักแบ่งแยกและปกครอง หากนายกฯให้สมคิดเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ก็ควรให้ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ควรตั้งที่ปรึกษาไว้คอยจับผิดการทำงาน โดยที่วรรคทองต่อมาน่าขีดเส้นใต้เป็นอย่างยิ่ง ส่วนตัวรู้จักกับสมคิด ถ้าหากมีอะไรที่ไม่เหมาะสม สามารถบอกกันได้โดยตรง

เป็นภาพสะท้อนถึงความไม่พอใจว่า ที่ผ่านมาตลอดการทำงานนอกจากถูกจับผิดแล้ว ไม่มีการสะกิดเตือนหรือบอกกล่าวในงานการที่ได้ทำไป ขณะเดียวกันถือเป็นหลักฐานชั้นดีของข่าวคราวที่มีมาก่อนหน้านี้โดยตลอดว่า หม่อมอุ๋ยกับสมคิดเกิดอาการปีนเกลียว เหยียบตาปลากันมานับตั้งแต่ขึ้นรูปก่อตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 1

ตอกย้ำอีกดอกกับการยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องส่งมอบงานให้สมคิด รวมทั้งไม่ต้องพูดคุยปรับความเข้าใจกับบิ๊กตู่และไม่ต้องไปช่วยงานรัฐบาล ถือเป็นการตัดบัวไม่เหลือใยจริงๆ สำหรับหม่อมอุ๋ย อย่างที่หลายๆ คนเคยเตือนไว้ก่อนหน้า ถ้าคิดให้ดีอยู่บ้านเลี้ยงหลานจะดีกว่าไม่ต้องเปลืองตัว แต่ก็พอเข้าใจกับเจ้าของทฤษฎีเศรษฐกิจประเทศไทยมั่นคงไม่ว่าการเมืองจะเป็นแบบไหนก็เดินหน้าต่อไปได้

หนนี้คงจะทำให้หม่อมอุ๋ยเปลี่ยนความคิดดังกล่าวได้แล้ว และน่าจะเป็นบทเรียนที่นำไปสอนนักศึกษาหากต้องไปสวมบทบาทเป็นอาจารย์นั่นก็คือ โลกยุคใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไกลมากแล้ว ที่บอกว่าประเทศซึ่งมีรัฐบาลจากคณะรัฐประหารนั้น ถ้าพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งรับรองจะไม่มีผลกระทบ ความจริงแล้วปัจจัยใหญ่คือ ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ใดในโลกเขาอยากคบ มันจึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศพบจุดจบเหมือนอย่างที่เป็นอยู่

คำวิจารณ์จาก สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ซึ่งปรากฏชื่อว่าจะเข้ามาร่วมครม.ประยุทธ์ 3 ก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง โดยมองว่าภารกิจของครม.ชุดใหม่ มีความท้าทายมากพอสมควร ที่จะต้องวิเคราะห์และประเมินบริบทปัญหาของประเทศที่อยู่ในภาวะซ้ำซ้อน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

โดยจะต้องแก้ไขให้ตรงจุด  ทั้งเรื่องการส่งออก การกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงผลักดันการค้าในภูมิภาค การค้าชายแดนให้มีประสิทธิภาพ การเตรียมพร้อมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุน การบริการ เป็นฐานธุรกิจ รวมถึงแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แตกแยก แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

สิ่งสำคัญคือ การแก้ไขช่องโหว่ของรัฐบาลชุดนี้ในประเด็นจุดเชื่อมต่อนโยบายระหว่างฝ่ายผู้นำทางการเมืองและภาคราชการ ที่อดีตเคยชินกับการใช้ระบบอุปถัมภ์ ส่งผลให้เกิดแรงหนืดในการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่าประเด็นหลังนี้ของดอกเตอร์สุรินทร์ น่าจะเป็นสิ่งที่แก้ได้ยากมากที่สุด

ลำพังเรื่องของระบบอุปถัมภ์นั้นยังไม่ค่อยเป็นอุปสรรคสำคัญเท่าไหร่ในการทำงานของภาคราชการ ในปัจจุบันต้องยอมรับกันว่า มาตรการที่เข้มงวดและการวางหลักเกณฑ์เพื่อที่จะเล่นงานผู้กระทำผิดในรูปแบบต่างๆ ต่างหากที่กลายเป็นปัจจัยทำให้ข้าราชการจำนวนมาก พร้อมใจกันใส่เกียร์ว่าง เพราะเกรงว่าหากไปแตะต้องเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วไม่ถูกใจใครขึ้นมาอนาคตจะดับวูบไปในทันที

นั่นเป็นมุมมองที่อาจเรียกได้ว่ากลางๆ อีกด้าน จาตุรนต์ ฉายแสง วิเคราะห์ว่า การปรับครม.หนนี้เป็นการปรับใหญ่ทางปริมาณ แต่ในแง่คุณลักษณะแล้วโดยรวมไม่ดีขึ้นหรืออาจจะแย่ลงกว่าเดิม ตามรายชื่อจะเต็มไปด้วยข้าราชการเกษียณกับข้าราชการปัจจุบัน ที่นำโดยข้าราชการทหารเป็นหลัก ไม่ได้สับเปลี่ยนด้วยเรื่องความรู้ความสามารถ แต่เป็นความสำคัญในทางอำนาจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาและรักษาอำนาจของรัฐบาลนี้

ทำให้เกิดลักษณะผิดฝาผิดตัว บทสรุปที่น่าสนใจของเดอะอ๋อยก็คือ ในส่วนของทีมเศรษฐกิจยังอาศัยข้าราชการประจำค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีข้อจำกัดในการคิดนโยบาย ส่วนคนนอกจำนวนน้อยที่เข้ามาจะติดขัดปัญหาต้องอยู่ใต้กรอบการบริหารที่ไม่มีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนมาแต่ต้น จะคิดขึ้นใหม่ สถานการณ์ก็ไม่อำนวย

ปัจจัยสำคัญคือ การไม่เป็นที่ยอมรับต่อระบบการปกครองจากประชาคมโลกที่ส่วนใหญ่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เจรจาต่อรองกับใครมีปัญหา คนที่มีความรู้ความสามารถบางคนจึงอยู่ในสภาพมาไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลาและผิดระบบ โดยรวมการปรับครม.ครั้งนี้จึงอยู่ในสภาพ“ติดกับระบบอำนาจนิยม” ที่กำลังจ่ายค่าเสียหายให้กับการยึดอำนาจมาโดยไม่ชอบและการพยายามรักษาอำนาจไว้อย่างไม่ชอบธรรม จะเป็นเช่นดังว่านี้หรือไม่ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

Back to top button