CPF ส่งตู้คอนเทนเนอร์ไก่สด ไปเยอรมนี

CPF ส่งตู้คอนเทนเนอร์ไก่สด-ผลิตภัณฑ์ไก่ส่งไปประเทศเยอรมนีเป็นล็อตแรก หลังจากที่กระบวนการผลิตไก่ของบริษัทได้รับรองมาตรฐานการผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัย หรือ QS Standard จากประเทศเยอรมนี หวังตอกย้ำคุณภาพ-ความปลอดภัยของไก่ที่ได้มาตรฐานสูงสุด


นายวีรชัย รัตนบานชื่น ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจไก่เนื้อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวในพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์สินค้าเนื้อไก่ไปเยอรมนีว่า บริษัทมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการผลิตเนื้อไก่มีคุณภาพและปลอดภัยได้มาตรฐานสากล และได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าทั่วโลก รวมทั้งสหภาพยุโรปนำเข้าไก่จากซีพีเอฟตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี

โดยล่าสุด ซีพีเอฟได้รับการรับรองมาตรฐาน QS จากประเทศเยอรมนี  ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองกระบวนการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ (Quality) เพื่อความปลอดภัย (Safety) สำหรับการบริโภค นับเป็นมาตรฐานสูงสุดของความปลอดภัยอาหารในกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมัน  ปัจจุบันได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคแพร่หลายยิ่งขึ้นในหลายประเทศแถบยุโรป

เนื่องจากมาตรฐาน QS เป็นมาตรฐานขั้นสูง มีข้อกำหนดที่เข้มงวดมาก เน้นกระบวนการผลิตที่แสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความโปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือในระดับสูงต่อตัวสินค้า ส่งผลให้ได้รับยอดสั่งซื้อจากลูกค้าจากเยอรมนีและอียูเพิ่มขึ้น โดยในครั้งนี้ทำการส่งออกไก่สดไปเยอรมนีในปริมาณ 23,000 กิโลกรัม และตลอดทั้งปี 2560 คาดว่าซีพีเอฟ จะมีเป้าส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปกลุ่ม EU รวมประมาณ 7 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท

“มาตรฐาน QS จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนไทยได้ในอีกระดับหนึ่งว่า ผู้บริโภคจะได้บริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ CP ที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างมีคุณภาพและความปลอดภัยในระดับเดียวกับชาวเยอรมันและสหภาพยุโรป ที่สำคัญการได้รับมาตรฐาน QS จะช่วยให้ซีพีเอฟมียอดสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าชาวเยอรมนีและ EU เพิ่มมากขึ้น” นายวีรชัยกล่าว

ทั้งมาตรฐาน QS มีระบบการติดตามตรวจสอบที่เข้มงวด มีการควบคุมเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะภายในฟาร์มอย่างปลอดภัยตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และผลิตภัณฑ์ต้องปราศจากเชื้อ Salmonella ตลอดจนมีระบบตรวจสอบคุณภาพไก่มีชีวิตส่งมอบโรงงาน

ซึ่งในกระบวนการผลิตไก่เนื้อของซีพีเอฟที่ดำเนินการมาตลอดมีความสอดคล้องกับมาตรฐานนี้อยู่แล้ว ทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ โดยปฏิบัติตามหลัก Animal welfare และ Animal health และยังร่วมกับกรมปศุสัตว์ พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบคอมพาร์ทเม้นท์ (Compartment) ป้องกันโรคไข้หวัดนก ตามหลักการของ OIE ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ Feed Farm และ Food ตลอดจนบริษัทผู้นำเข้า ร้านจำหน่ายสินค้าปลีกและส่งในประเทศเยอรมนี รวมถึงประเทศปลายทางอื่นๆ ตลอดจนมีข้อปฏิบัติที่ถูกออกแบบให้มีความจำเพาะต่อหน่วยงานทุกหน่วยงานที่มีส่วนสัมพันธ์ต่อการผลิตอาหาร

ภายใต้การคำนึงถึงความปลอดภัยทางอาหารสูงสุดต่อผู้บริโภค และข้อปฏิบัติที่ QS กำหนดขึ้นนี้ จะถูกตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการรายงานตรวจสอบ รวมทั้งทวนสอบถึงแหล่งที่มาของสินค้าในทุกห่วงโซ่การผลิต ผู้บริโภคจึงเชื่อมั่นได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการผลิต ภายใต้มาตรฐาน QS ทั้งหมดมีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างแท้จริง

Back to top button