เจ.พี. มอร์แกน เผยแนวโน้มศก.โลกถดถอยเป็นความเสี่ยงสูงสุดสำหรับธุรกิจ!

การสำรวจของเจ.พี. มอร์แกน เผยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอยเป็นความเสี่ยงสูงสุดสำหรับธุรกิจในมุมมองของซีเอฟโอและเจ้าหน้าที่บริหารทรัพย์สิน


กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, 28 ตุลาคม 2562 – ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) และเจ้าหน้าที่บริหารทรัพย์สินที่ประจำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัทชั้นนำทั่วโลกระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอยคือความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของธุรกิจในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า จากผลการสำรวจระหว่างการประชุมประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และเจ้าหน้าที่บริหารทรัพย์สินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จัดขึ้นโดยเจ.พี. มอร์แกน ที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนนี้

เกือบหนึ่งในสาม (ร้อยละ 30) ของผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 150 รายจาก 130 บริษัทระดับโลกจัดอันดับให้แนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโลกเป็นความเสี่ยงสูงสุด ตามด้วยร้อยละ 27 ที่แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากภาษีนำเข้าทั่วโลก และ ร้อยละ 24 ที่มองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ที่ชะลอตัวลงเป็นความเสี่ยงสูงสุด ส่วนความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ร้อยละ 10) และผลกระทบจาก Brexit (ร้อยละ 9) ตามมาเป็น 2 อันดับท้ายสุด [แผนภูมิที่ 1]

ในด้านการรับมือกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) ของธุรกิจ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 กล่าวว่ากำลังมองที่การกำหนดราคาใหม่กับคู่ค้าผู้ผลิตและจัดหาสินค้าให้กับองค์กร ในขณะที่ร้อยละ 32 ตอบว่ากำลังมองหาคู่ค้าผู้ผลิตและจัดหาสินค้าให้กับองค์กรรายใหม่ และร้อยละ 15 ตอบว่ากำลังย้ายการผลิตจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่น [แผนภูมิที่ 2]

นายโอลิเวอร์ บริงค์แมนน์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของ เจ.พี. มอร์แกน เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผลกระทบจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคเป็นประเด็นหลักสำหรับประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และเจ้าหน้าที่บริหารทรัพย์สินชั้นนำของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจระดับโลก เจ.พี. มอร์แกนไม่ได้เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มองว่าการเติบโตจะชะลอลงในหลายไตรมาสข้างหน้าและคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 2.7 ในปี 2562 และลดต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2563 เรายังคงมองเห็นโอกาสในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแต่สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศก็ยังมีผลกระทบต่อความมั่นใจอยู่”

ม.ล. ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์เจ.พี. มอร์แกน ประเทศไทย กล่าวว่า “เช่นเดียวกับตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ตัวเลขการส่งออกของประเทศที่แย่ลงเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรการลงทุนที่ชะลอลง การลงทุนภาคเอกชนยังได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าทุนหลังจากที่ทรงตัวในระดับที่ดีในช่วงต้นของปีนี้ เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ร้อยละ 0.25 ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ หลังจากคงดอกเบี้ยไว้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เจ.พี. มอร์แกนคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2562 (จากร้อยละ 4.1 ในปี 2561) และจะเติบโตที่ร้อยละ 3 ในปี 2563

เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงโดยเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมด้านการเงินและการคลังนั้นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และเจ้าหน้าที่บริหารทรัพย์สินชี้ว่าความท้าทาย 3 อันดับแรกที่พวกเขาต้องเผชิญในการรองรับอนาคตสำหรับองค์กร ได้แก่ กระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 25) การขาดแคลนเทคโนโลยี (ร้อยละ 25) และการขาดแคลนทรัพยากร (ร้อยละ 24) [แผนภูมิที่ 3]

ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่าเป็นเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะมีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเงินแบบดั้งเดิม ตามด้วยบล็อกเชน (ร้อยละ 28) คริปโตเคอเรนซี (ร้อยละ 15) และควอนตัมคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 7) [แผนภูมิที่ 4]

“ผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินต้องการจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ ขณะที่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถในการส่งมอบข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญและวางการดำเนินการในอนาคตแบบเรียลไทม์ ทั้งยังเป็นประโยชน์สำหรับประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และเจ้าหน้าที่บริหารทรัพย์สินในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านสภาพคล่อง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิผลและป้องกันการฉ้อโกง” นายบริงค์แมนน์ กล่าว

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่พร้อมนำอีคอมเมิร์ซมาใช้ในธุรกิจ โดยร้อยละ 45 ระบุว่ามีกลยุทธ์ด้านอีคอมเมิร์ซพร้อมใช้ปฏิบัติการ และร้อยละ 21 กล่าวว่ายังอยู่ในช่วงการวางแผน นอกจากนี้ยังกล่าวว่าช่องทางการรับเงินที่หลากหลาย ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การพิสูจน์ยอดเงินที่ไหลเข้า และการดำเนินการขอคืนเงินและข้อพิพาทกับลูกค้าล้วนเป็นความท้าทายสำคัญในการจัดการธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ [แผนภูมิ 5 และ 6]

“ไม่แปลกเลยที่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งเป็นร้อยละ 70 ภายในปี 2565 การโยกย้ายกิจกรรมการค้าไปสู่แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ เจ.พี. มอร์แกนอยู่ในสถานะที่ดีที่จะช่วยเหลือลูกค้าของเราในการดำเนินธุรกิจด้วยแพลตฟอร์มระดับโลกและความสามารถระดับภูมิภาคและท้องถิ่นในการชำระเงินของเรา” นายบริงค์แมนน์กล่าว

การประชุมประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และเจ้าหน้าที่บริหารทรัพย์สินประจำปีครั้งที่ 6 ของเจ.พี. มอร์แกน (JP Morgan Asia Pacific CFO และ Treasurers Forum) เกิดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้เป็นครั้งที่สองในรอบ 3 ปี โดยมีผู้ปฏิบัติงานชั้นนำจากตลาดเอเชียแปซิฟิก 12 แห่ง เข้าร่วมงาน ซึ่งนับเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าตลาดรวมกันเกินกว่า 6.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ *

*ปริมาณการซื้อขายทั้งกลุ่ม ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562

เกี่ยวกับเจ.พี. มอร์แกน

ธนาคารวาณิชธนกิจและบรรษัทธนกิจของเจ.พี. มอร์แกนเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการธนาคาร ตลาดและบริการให้นักลงทุน บรรษัท สถาบันและรัฐบาลที่สำคัญที่สุดของโลกให้ความไว้วางใจเราในกว่า 100 ประเทศ ด้วยสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และเงินฝาก 4.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารวาณิชธนกิจและบรรษัทธนกิจของเจ.พี. มอร์แกนได้ให้บริการด้านคำแนะนำเชิงกลยุทธ์ การเพิ่มทุน การบริหารความเสี่ยง และการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เจ.พี. มอร์แกน สามารถติดตามได้ที่ www.jpmorgan.com

Back to top button