CPF-กรมประมงฝ่าวิกฤติโรค EMSสอนเลี้ยงลูกกุ้งแบบเพชรบุรีโมเดล

CPF จับมือกรมประมงฝ่าวิกฤติโรคอีเอ็มเอส สนับสนุนลูกกุ้งที่ปราศจากเชื้อ ด้วยการเลี้ยงแบบ “เพชรบุรีโมเดล” ด้วยการผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพ ปราศจากโรค ได้มาตรฐานสูง รวมถึงใช้เครื่องมือตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่แม่นยำทุกขั้นตอน


น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า ซีพีเอฟสนับสนุนศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี ด้วยการผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพ ปราศจากโรค ได้มาตรฐานสูง รวมถึงใช้เครื่องมือตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่แม่นยำทุกขั้นตอน โดยมองว่าความร่วมมือกับกรมประมงจะมีส่วนช่วยพัฒนากระบวนการฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่ยั่งยืน สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ได้นำไปต่อยอดสร้างความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศต่อไป

นางมนทกานติ ท้ามติ้ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กรมประมง เผย การจัดการบ่อเลี้ยงกุ้งในรูปแบบ “เพชรบุรีโมเดล” ที่ใช้สาหร่ายทะเลช่วยบำบัดเชื้อโรค ร่วมกับการใช้ลูกพันธุ์กุ้งของซีพีเอฟที่มีคุณภาพ และปราศจากเชื้อ ได้มีส่วนช่วยให้การเลี้ยงกุ้งได้ผลสำเร็จที่น่าพอใจ พร้อมถ่ายทอดต่อเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กับฟาร์มได้ทันที

นางมนทกานติกล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรียังเน้นให้ความสำคัญกับลูกกุ้งที่มีคุณภาพ แข็งแรง ที่มาจากโรงเพาะฟักลูกกุ้งที่มีกระบวนการจัดการการเลี้ยงที่มีมาตรฐานสูง รวมทั้งการควบคุมคุณภาพและตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัดจนมั่นใจได้ว่าลูกกุ้งปราศจากเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค และจากการที่ศูนย์ทดลองใช้พันธุ์ลูกกุ้งของซีพีเอฟมา 4 รอบการเลี้ยงที่ผ่านมา ใช้ระยะการเลี้ยง 70 วันประสบความสำเร็จทุกรุ่น ผลผลิต 1,025 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดกุ้งที่จับได้ประมาณ 80 ตัวต่อกิโลกรัม มีอัตราแลกเนื้อประมาณ 1.25 กุ้งมีอัตรารอดร้อยละ 82 ทั้งนี้กรมประมงยังได้ถ่ายทอดแนวทางการจัดการบ่อกุ้ง แบบเพชรบุรีโมเดล และการใช้พันธุ์ลูกกุ้งที่มีมาตรฐานสู่เกษตรกรเพื่อสร้างผลผลิตกุ้งที่ดีต่อไป

Back to top button