CPF แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์-ไข่ไก่ให้ปลอดภัยทุกด้านก่อนรับประทาน
CPF แนะนำวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์และไข่ไก่ที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย มีตราสินค้าที่เชื่อถือได้รับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ย้ำต้องปรุงอาหารให้สุกก่อนนำไปบริโภค หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เพื่อสุขอนามัยที่ดี
น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารรวมถึงซีพีเอฟตระหนักถึง และดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2535 ตลอดจนมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอาหารปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมาภาคปศุสัตว์ของไทยมีพัฒนาการทั้งด้านการเลี้ยงสัตว์ การจัดการ การแปรรูป จนถึงการขนส่งที่ดีมาโดยตลอด
โดยเฉพาะการเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มและมาตรฐานการแปรรูประดับสากล ซึ่งมีการควบคุมความสะอาด และการป้องกันเชื้อโรคอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้อาหารที่ดีมีคุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือร้านค้าที่จำหน่ายสะอาดได้มาตรฐาน และมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย เช่น ตราสัญลักษณ์สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย-เขียงสะอาด ของกรมปศุสัตว์, เครื่องหมายมาตรฐาน Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเครื่องหมาย อย. ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
“ที่สำคัญผู้บริโภคต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์ดิบๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ นอกจากนี้การปรุงอาหารด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 70-100 องศาเซลเซียส ยังสามารถฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ที่ปนเปื้อนมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์” น.สพ.นรินทร์ กล่าว
น.สพ.นรินทร์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับวิธีการเลือกเนื้อสุกรคุณภาพดีมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้ ผู้บริโภคควรเลือกเนื้อสุกรที่มีสีชมพูอ่อน ไม่ซีด ไม่เขียวคล้ำหรือมีสีน้ำตาลและมีกลิ่นเหม็นซึ่งเป็นเนื้อที่เก็บมานานใกล้เสีย ต้องพิจารณาเนื้อที่ไม่มีลักษณะคล้ายเม็ดสาคูฝังอยู่ในเนื้อ และสีเนื้อต้องไม่แดงจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงเนื้อที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง เนื้อสุกรที่ดีต้องมีน้ำเจือปน หรือที่เรียกว่าฉ่ำน้ำ เนื้อไม่แห้งแข็ง ควรมีไขมันแทรกในชั้นกล้ามเนื้อ เวลากดเนื้อลงไปผิวสัมผัสจะนิ่ม เมื่อปรุงสุกแล้วเนื้อต้องไม่แข็งกระด้างและควรมีความชุ่มฉ่ำ
ส่วนการเลือกซื้อเนื้อไก่ ให้สังเกตที่ลักษณะภายนอก คือ เนื้อหนังมีลักษณะสดใส ไม่ซีดขาว เนื้อหน้าอกหนาเต็มไม่เหี่ยวย่น ผิวต้องไม่มีสีคล้ำ ไม่มีรอยเขียว หรือจ้ำเลือด ขามีเนื้อมากอวบอ้วน สามารถพับงอขาได้ ดวงตาต้องสดใส ที่สำคัญต้องไม่มีกลิ่นเหม็น หากเป็นชิ้นเนื้อไก่ต้องมีความชุ่มฉ่ำ ไม่แห้งเกินไป หรือมีเมือกเหนียว ซึ่งแสดงว่าใกล้เสียแล้ว
สำหรับวิธีการเลือกไข่ไก่ควรเป็นไข่ที่มาจากฟาร์มมีการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล ผู้บริโภคสามารถควรเลือกไข่ที่มีผิวเปลือกสะอาด ไม่มีมูลไก่ติดอยู่ เปลือกไม่บุบและไม่มีรอยแตกร้าว ผิวเกลี้ยงมีสีด้านแต่มีความนวล มีนวลแป้งเคลือบเปลือกไข่อยู่ ไข่ใหม่ผิวสัมผัสจะสากเล็กน้อย ส่วนไข่เก่าจะมีลักษณะเปลือกมันลื่นขึ้นเงา เมื่อเขย่าไข่เบาๆจะมีความแน่นไม่คลอน ทั้งนี้ผู้บริโภคควรสังเกตวันผลิตและวันหมดอายุ โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลอายุการจัดเก็บไข่ไก่ไม่ควรเกิน 21 วัน และควรเก็บรักษาไข่ในที่เย็นและแห้ง เช่นในตู้เย็น ซึ่งจะช่วยยืดอายุจัดเก็บไข่ไก่ได้