“ซีพี” จับมือบริษัทในเครือ “ประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อน” เวที GCNT Forum 2021
“ซีพี” จับมือกลุ่มธุรกิจในเครือ ร่วม “ประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อน” พร้อมภาคเอกชนชั้นนำของไทย บนเวทีประชุมสุดยอดระดับผู้นำของประเทศไทย “GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021” จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยร่วมกับองค์การสหประชาชาติ มุ่งเป้าพลิกระบบเศรษฐกิจไทย สู่ยุค Net Zero อย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกับสหประชาชาติ (UN) จัดงานการประชุมสุดยอดระดับผู้นำของประเทศไทย “GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021” ภายใต้แนวคิด “A New Era of Accelerated Actions” รวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ทั้งนี้การจัดเสวนาพร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ผ่านรูปแบบออนไลน์ มีผู้นำจากภาครัฐ ประชาสังคม และภาคเอกชนจากหลากหลายองค์กรเข้า โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางสาวกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ กว่า 200 องค์กรทั่วประเทศ
สำหรับการนี้ บริษัทและกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ได้เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ครั้งสำคัญในการร่วมยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วย ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE, บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) , บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด และ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด เพื่อร่วมเดินหน้าเร่งลงมือทำอย่างจริงจังและวัดผลได้ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนเครือซีพีร่วมประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวแสดงความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของ GCNT ในการให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ภาคธุรกิจจะต้องเป็นผู้นำและร่วมสนับสนุนภาครัฐในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ โดยเฉพาะการขยายผลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-based, Circular และ Green Economy อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพื้นฐาน ชีวภาพ และธุรกิจมูลค่าสูงที่สร้างมลพิษต่ำ
โดยขณะนี้สมาชิกของ GCNT ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ และที่กำลังจะมีขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนลดภาวะโลกร้อนและช่วยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้วจำนวน 510 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 420,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการปฏิรูปที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ การส่งเสริมความโปร่งใสผ่านตัวชี้วัดด้วยการจัดทำรายงานการจัดการความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจต่างๆในทุกปีด้วย ตลอดจนการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นในอนาคต
“เราต้องเร่งมือ เร่งการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไทย สู่ยุค Net Zero ให้เร็วที่สุด ให้เป็น Race to Zero อย่างแท้จริง ด้วยระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ต้องเร่งมือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ” นายศุภชัยกล่าว
ทั้งนี้ในงานเสวนาและประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อน “GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021” เครือซีพี โดยนายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร ได้เป็นผู้แทนเครือฯ เข้าร่วมเสวนาหัวข้อ “บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ร่วมกับนายอาเบล เติ้ง (Abel Deng) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
รวมทั้งนางนาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) พร้อมนายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การบริหารกลาง เอสซีจี และนายเบอร์นาร์โด คาลซาดิยา – ซาร์เมียนโต้ (Bernardo Calzadilla- Sarmiento) ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าการลงทุนและนวัตกรรม องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)
โดยนายสมเจตนา กล่าวว่า เครือซีพีได้แสดงความมุ่งมั่นต่อการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยกลุ่มธุรกิจของซีพีทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ได้ตั้งเป้าในการนำธุรกิจทั้งหมดบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยที่ผ่านมาเครือซีพีได้ร่วมปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Race to Zero ของสหประชาชาติ มีการดำเนินการ อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือ ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว
รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากขึ้นในกระบวนการการจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรเข้ามาผลิตสินค้าของซีพี
อย่างไรก็ดีซีพีได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนในกระบวนการผลิตต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดรวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยตั้งเป้าหมายการลดขยะอาหารและของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้
ทั้งนี้การประกาศเจตนารมณ์ของภาคเอกชนในการร่วมจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีการนำนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหา Climate Change และต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ หรือ Mindset ด้วยการสร้างและทดลองธุรกิจใหม่ๆเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุค Net Zero ตลอดห่วงโซ่อุปทาน