BCPG ร่วมสัมมนา “GCNT Forum 2021” ประกาศเจตนารมณ์สู้โลกร้อน
BCPG ร่วมสัมมนาออนไลน์ “GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021” ประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อน ตั้งเป้าเป็นองค์กร Net Zero ในอีก 10 ปีข้างหน้า
นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ร่วมเป็นหนึ่งในผู้นำองค์กรชั้นนำของไทยประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในงานสัมมนาออนไลน์ ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ ภายใต้แนวคิด ‘A New Era of Accelerated Actions’ พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ “ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกลุ่มธุรกิจพลังงาน” จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสหประชาชาติ
ทั้งนี้การประกาศเจตนารมณ์สู้วิกฤตโลกร้อนของกลุ่มสมาชิกโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยดังกล่าวมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1) เพิ่มมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาอันเกิดจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสถานการณ์วิกฤต (Climate Emergency) 2) วัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Measure GHG Emissions) จากการประกอบธุรกิจของตนเอง เพื่อรับรู้และหาวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังคงมีอยู่ พร้อมเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ต่อสาธารณะเป็นประจำ และ 3) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ (Take Action to Reduce GHG Emissions) โดยมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ นายบัณฑิต สะเพียรชัย เผยมุมมองในช่วงเสวนาว่า ที่ผ่านมาบีซีพีจีดำเนินธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน โดยบริษัทฯ กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น Carbon Neutral ในต้นปี 2565 และตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งล่าสุดบีซีพีจีเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้ง Carbon Markets Club แพลทฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจ
“ความท้าทายที่แท้จริงของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนคือ Mindsetหรือวิธีคิด ข้อกำหนด และกฎระเบียบต่างๆ เพราะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีไปไกลมาก เทคโนโลยีจึงไม่ใช่ความท้าทายที่แท้จริงอีกต่อไป แต่เป็นวิธีคิดหรือทัศนคติของเราต่างหากที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง” นายบัณฑิตกล่าว
โดยปัจจุบัน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม Digital Energy ซึ่งเป็นสิ่งที่บีซีพีจีพัฒนามาตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และสามารถซื้อขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า “Prosumer” ซึ่งจะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของเทคโนโลยีแบบทวีคูณ (Exponential)
“ต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ลดลง และนวัตกรรมทางการเงิน รวมถึงเทคโนโลยีระบบกักเก็บไฟฟ้า (Energy Storage System) จะส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาพร้อมกับการติดตั้งแบตเตอรี่ เป็นจำนวนมาก และจากการที่บีซีพีจีได้ลงทุนในธุรกิจระบบกักเก็บไฟฟ้าในประเทศจีน ทำให้เราเชื่อมั่นว่าในเร็วๆ นี้ การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่จะทำให้การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดคุ้มค่าและแพร่หลายยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถใช้ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลงและสะอาดขึ้น ดังนั้นตัวจริงเสียงจริงที่จะเป็นนักพัฒนาและทำให้โลกใบนี้สะอาดขึ้นก็คือพวกเราทุกคน” นายบัณฑิตกล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเร่งหาทางจัดการกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งอาจจะไม่สามารถรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างทันที “ราคาพลังงานที่ถูกลง ความเสถียรของพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบสายส่งและความสะอาดของพลังงานเป็นสิ่งที่รอไม่ได้” นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย
ล่าสุดบีซีพีจีได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 146 “หุ้นยั่งยืน” ประจำปี 2564 (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ตลอดจนการบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน