“เครือ CP” ครบรอบ 33 ปี โครงการพัฒนาชนบท-เสริมคุณภาพชีวิตเด็ก-เยาวชน
“เครือ CP” ครบรอบ 33 ปี “มุ่งสร้าง 3 ดี พัฒนา 3 ด้าน” ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ดูแลเกษตรกรและผู้สูงวัยพื้นที่ห่างไกล
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP และผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซึ่งร่วมก่อตั้งโดยผู้บริหารและพนักงานเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินงานครบรอบปีที่ 33
โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาได้น้อมนำแนวพระราชดำริและยึดมั่นตามรอยใต้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน สร้างโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมการเติบโตอย่างสมวัย ดูแลเกษตรกรและผู้สูงวัยในชนบทห่างไกล บนพื้นฐานของปรัชญา 3 ประโยชน์ที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอด คือ คำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน ก่อนประโยชน์ขององค์กร และยังได้บูรณาการการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)
ทั้งนี้ มูลนิธิฯ สานต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนและเกษตรกรที่อยู่ในชนบท โดยเริ่มต้นจากพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ใช้พื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร” เพื่อให้เยาวชนในชนบทที่อยู่นอกการศึกษาภาคบังคับ มีโอกาสได้รับการฝึกอาชีพ ฝึกระเบียบวินัย เรียนรู้ทักษะชีวิต และเติบโตเป็น คนดี พลเมืองดี และมี อาชีพดี จากนั้นได้ริเริ่มดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคนในชนบท ได้แก่ เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสในชนบท เกษตรกรที่มีฐานะยากจน และผู้สูงวัยในชนบทที่ห่างไกล
สำหรับงานด้านเด็กและเยาวชน ได้ดำเนิน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เป็นโครงการที่มูลนิธิฯร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการอาหารกลางวันในโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการสนับสนุนการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อนำไข่ไก่มาประกอบเป็นอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และขยายผลไปตามโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสังกัดอื่นทั่วประเทศ
โดยมี CPF หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ และ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ร่วมสนับสนุนงบประมาณ ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ เกือบ 900 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่ละโรงเรียนสามารถบูรณาการการเลี้ยงไก่ไข่สู่การเรียนการสอนและเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจสำหรับครู นักเรียน เกษตรกรรอบโรงเรียนรวมกว่า 1,900 ชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเยาวชนจนถึงปัจจุบันรวมกว่า 180,000 คน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ ดูแลนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งมีความยากลำบาก และมีโอกาสน้อยในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มูลนิธิฯ จึงร่วมสนับสนุนโครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับเด็กที่มีความประพฤติดี ผลการเรียนดี มีความเป็นผู้นำจากโรงเรียน ตชด. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาพักค้างและเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จังหวัดเลย และเด็กจากโรงเรียน ตชด. พื้นที่ภาคกลางและตะวันออก มาพักค้าง ณ ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร
ทั้งนี้ เพื่อเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ควบคู่กับการเรียนรู้ด้านอาชีพเกษตร ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ รับเด็กเข้าโครงการรวม 203 คน จบการศึกษาแล้ว 97 คน อยู่ระหว่างการศึกษา 81 คน และกลับไปศึกษาหรือประกอบอาชีพใกล้บ้าน 25 คน และพบว่าร้อยละ 24 ของนักเรียนทุนได้กลับไปสร้างงาน สร้างอาชีพในครัวเรือน และร้อยละ 54 สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ขยายผลในการสร้างวิสาหกิจชุมชน
สำหรับโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม เป็นโครงการดูแลเด็กกำพร้ามีโอกาสได้อยู่กับครอบครัวทดแทน ช่วยให้เด็ก ๆ มีโอกาสได้รับความรัก ความอบอุ่น ได้รับการดูแลปลูกฝังด้านคุณธรรม ประกอบกับบริบทสังคมชุมชนในภาคอีสาน มีวัฒนธรรมการเลี้ยงดูปลูกฝังให้มีความกตัญญู เอื้อต่อการเป็นครอบครัวทดแทน มูลนิธิฯ จึงได้สรรหาครอบครัวเกษตรกรที่มีจิตสาธารณะในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมเป็นครอบครัวอุปการะ รับเด็กจากสถานสงเคราะห์มาเป็นสมาชิกของครอบครัว โดยที่ผ่านมามีเด็กกำพร้าที่มูลนิธิฯ รับเข้าโครงการฯ แล้วกว่า 300 คน อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ 67 คน ทยอยส่งมอบสู่ครอบครัวถาวร 262 คน และกลับคืนสถานสงเคราะห์ 13 คน และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี 4 คน
โดยในส่วนโครงการแก้ปัญหาด้านความยากจน มูลนิธิฯ ได้จัดทำศูนย์สาธิตธุรกิจเกษตรให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร โดยรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนั้นได้ขยายไปยังโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ 7 แห่ง โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และ โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ ตามดำริของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา มีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯกว่า 5,000 คน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากโครงการส่งเสริมอาชีพและโครงการด้านสังคมเกือบ 1,000 ล้านบาท เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มเพื่อจัดการอาชีพ แก้ปัญหาส่วนตัวและส่วนรวมกว่า 200 ชุมชน เป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดความรู้และขยายผลต่อเนื่อง เกิดเป็นกลุ่มอาชีพใหม่ 3 กลุ่ม และกลุ่มออมทรัพย์เกษตรกร 108 ราย มีเงินออมกว่า 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อปี 2530 ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ คณะผู้บริหารและเหล่าพนักงานเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเฉลิมพระเกียรติด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังเวลา กำลังสติปัญญา เพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนและเกษตรกรในชนบทห่างไกล “ตามรอยใต้เบื้องพระยุคลบาท”เพื่อร่วมแบ่งเบาพระราชภาระ โดยได้ตั้งกองทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้จดทะเบียนเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลในชื่อ “มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท” ยึดมั่นในปรัชญา 3 ประโยชน์ คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน ก่อนประโยชน์ต่อองค์กร