FAO ยก “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” CPF ต้นแบบสร้างอาชีพเกษตรเลี้ยงสัตว์
CPF นำ “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ได้มีอาชีพที่มั่นคง ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดย FAO ชูเป็นโมเดลที่ดีในการพัฒนาภาคเกษตร พร้อมนำไปเป็นแนวทางถ่ายทอดให้หลายประเทศได้นำไปประยุกต์ใช้อีกด้วย
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้นำระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” (Contract Farming) มาช่วยส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยของไทยกว่า 5,900 ราย ได้มีอาชีพที่มั่นคง ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่เสี่ยงเรื่องราคาและตลาด โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชูเป็นโมเดลที่ดีในการพัฒนาภาคเกษตร พร้อมนำไปเป็นแนวทางถ่ายทอดให้หลายประเทศได้นำไปประยุกต์ใช้อีกด้วย
โดยคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เป็นระบบการผลิตผลผลิต หรือ บริการทางการเกษตรที่ทำสัญญากันระหว่าง “ผู้ประกอบธุรกิจ” กับ “เกษตรกร” หรือ “กลุ่มเกษตรกร” โดยใช้กับการเพาะปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์หลายประเภท ช่วยเกษตรกรรายย่อยลดความเสี่ยงเรื่องราคา ความผันผวนด้านการตลาด ซึ่งคู่สัญญามีการตกลงในการบริหารจัดการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจจะถ่ายทอดวิธีการผลิต และจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ขณะที่เกษตรกรผลิตตามจำนวน คุณภาพ ระยะเวลาที่กำหนดหรือมาตรฐานของผู้ประกอบการ และส่งมอบผลผลิตในราคาที่ตกลงและประกันไว้ล่วงหน้า ระบบนี้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และช่วยให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจมีหลักประกันเรื่องมีวัตถุดิบที่ได้คุณภาพได้ใช้ผลิตสินค้าได้ะ อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เป็นระบบที่ช่วยปิดความเสี่ยงของเกษตรกรไม่ถูกกดราคา ผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาด
สำหรับปัจจุบันประเทศไทยมี พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ที่ช่วยกำกับดูแลการทำสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญา เพื่อช่วยสร้างความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญา เน้นปกป้องเกษตรกรรายย่อยได้มีที่พึ่ง มีอำนาจต่อรองในการเจรจากับบริษัทคู่สัญญา เพื่อช่วยขจัดปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น และดูแลให้ระบบสามารถส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยมีอาชีพ รายได้มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ในประเทศไทยมีภาคเอกชนหลายแห่งทำคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศ มันฝรั่ง รวมถึง CPF เป็นหนึ่งในภาคเอกชนรายแรกๆ ที่นำระบบนี้มาปรับใช้กับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ตั้งแต่ 2518 ปัจจุบันบริษัทฯ มีเครือข่ายเกษตรกรในโครงการฯ กว่า 5,900 ราย มีผู้เชี่ยวชาญ เป็น “พี่เลี้ยง” ช่วยให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ ให้เกษตรกรในโครงการอย่างใกล้ชิด เป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรให้สามารถริเริ่มและดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีทุกวันนี้เกษตรกรรายย่อยในโครงการฯ ยังปรับตัวให้มีความทันสมัยสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคทั่วโลกที่ใส่ใจประเด็น “ความยั่งยืน” มากขึ้น ทั้งการตรวจสอบย้อนกลับได้ การนำระบบอัตโนมัติมาใช้จัดการฟาร์ม การดูแลแรงงานตามหลัก GLP (Good Labour Practices) การทำบ่อไบโอแก๊ส (Biogas) เกษตรกรสามารถนำของเสียมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม และช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน
อนึ่งระบบไบโอซีเคียวริตี้ (biosecurity) เป็นอีกคำที่กล่าวถึงกันมาก รวมถึงตัวเกษตรกรรายย่อยเอง ว่าต้องทำอย่างไรกัน เพื่อป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งเป็นคำที่คุ้นเคยในกลุ่มเกษตรกรในโครงการฯ ที่ได้รับความรู้และเข้าใจเรื่องนี้มาโดยตลอดจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิด การควบคุมการเข้าออกฟาร์ม มีระบบฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรในโครงการฯ สามารถเลี้ยงสัตว์ได้อย่างปลอดภัย ลดเสี่ยงจากโรคระบาดสัตว์ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น PRRS หรือ ASF รวมถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เกษตรกรในโครงการฯ ยังสามารถปรับตัวยกการ์ดสูงป้องกันคนงานและฟาร์ม ช่วยให้การผลิตทำได้ต่อเนื่อง นับเป็นกองหลังที่สำคัญช่วยผลิตอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่องให้คนไทยไม่ต้องเจอกับวิกฤตขาดแคลนอาหารมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และเป็นอีกปัจจัยให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงสัตว์ปลอดภัยจากโรคระบาดได้
สำหรับในประเด็นเรื่องความเป็นธรรมของระบบ ตั้งแต่ปี 2558 ซีพีเอฟได้ปรับปรุงสัญญาคอนแทรคฟาร์มอย่างรอบด้านให้มีความทันสมัยตามแนวทางสากลของ UNIDROT (The International Institute for the Unification of Private Law) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีโดยมีเกษตรกรเป็นพันธมิตรธุรกิจที่สำคัญ และบริษัทพร้อมผลักดันให้เกษตรกรเติบโตไปด้วยกัน
อีกทั้งสัญญาฉบับปรับปรุงใหม่ ยังได้รับการตรวจประเมินจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่ามีความเป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO-Food and Agriculture Organization of the United Nations) นำไปใช้เป็นต้นแบบในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านของไทย และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย
โดยตัวอย่าง ความสำเร็จของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย ได้แก่ “อนุจิตร รู้จบ” จบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาสานต่อ “มะลิฟาร์ม” ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรของครอบครัวที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2541 ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าวุ้ง จังหวัด ลพบุรี ปัจจุบัน มีโรงเรือนสำหรับเลี้ยงลูกหมู 7 หลัง จำนวน 4,000-5,000 ตัว
ทั้งนี้ “อนุจิตร” ยังได้ประยุกต์ใช้ความรู้เข้ามาจัดการระบบฟาร์มให้ทันสมัยให้หมูได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สอดคล้องกับหลักสากล มีการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ จัดจ้างแรงงานให้อยู่ในระบบประกันสังคม จัดทำบ่อบำบัดน้ำเสีย และนำไบโอแก๊สที่ได้จากบ่อบำบัดไปปั่นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม และกำลังศึกษาติดตั้งโซล่าร์เซลล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย