CPF โชว์ผลงาน “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ปีที่ 7

“ซีพีเอฟ – เอฟไอที” โชว์ความสำเร็จโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" ปีที่ 7 ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์จากแหล่งไม่รุกป่าไม้


นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า ซีพีเอฟยึดมั่นนโยบายและดำเนินแนวปฏิบัติการจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรอย่างรับผิดชอบ มีส่วนร่วมลดและป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศ

ทั้งนี้ เพื่อตอบความต้องการบริโภคอาหารที่มาจากกระบวนการผลิตอาหารที่มีความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซีพีเอฟ ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถระบุพื้นที่ปลูกได้ เพื่อมีส่วนร่วมยุติการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้

โดยควบคู่กับส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผ่านการดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าผลผลิต ช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และร่วมเป็นต้นทางในการผลิตพืชผลทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากผลลัพธ์จากดำเนินโครงการฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น

โครงการมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตข้าวโพดวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งปริมาณและคุณภาพ ด้วยการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ต้องบุกรุกป่า สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ควบคู่กับนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเพื่อพัฒนาคู่ค้า และเกษตรกรให้เติบโตไปด้วยกัน” นายเรวัติ กล่าว

ด้านนายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจการค้า วัตถุดิบอาหารสัตว์ กล่าวว่า จากการดำเนินมาตลอด 7 ปี มีเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในหลายพื้นที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2564 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ รวม 11,150 ครอบครัวเพิ่มจาก 10,591 ครอบครัวในปีก่อนหน้า ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 330,260 ไร่ โดยจังหวัดนครราชสีมาพื้นที่ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของไทย มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ สูงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา ได้แก่ สระบุรี พะเยา อุทัยธานี เพชรบูรณ์ ตามลำดับ

โดยจำนวนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้น เป็นตัวช่วยสะท้อนถึงผลสำเร็จของโครงการฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น มีผลผลิตมีปริมาณที่สูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง จากการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม  นอกจากนี้ โครงการฯ ยังช่วยสนับสนุนและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการเก็บเกี่ยวบางส่วนให้กับเกษตรกร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการเปิดจุดรับซื้อข้าวโพดใกล้กับแหล่งปลูก เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าขนส่งในช่วงเก็บเกี่ยว

ขณะที่การดำเนินโครงการฯ ปี 2564 ที่ผ่านมา ช่วยให้เกษตรกรสามารถมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่อยู่นอกโครงการฯ โดยฤดูกาลปลูกในปี 2564 เกษตรกรในโครงการฯ มีผลผลิตรวมประมาณ 112,000 ตัน โดยมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยประมาณ 906 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าเกษตรกรทั่วไปที่มีผลผลิตเฉลี่ย 836 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะเดียวกัน มีส่วนช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลงจากการใช้ปุ๋ยและปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันในรูปแบบเกษตรกรแปลงใหญ่

สำหรับในปี 2565 โครงการฯ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรผลิตข้าวโพดวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคม และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่รุกป่า และปลอดจากการเผา ผ่านการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำในการทำเกษตรแม่นยำ ยกระดับการเพาะปลูกเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ ร่วมเป็นต้นทางการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในระยะยาว

Back to top button