“มธ.” ผนึก “ตลท.-SkillLane” เปิดตัว Thammasat Digital เน้นหลักสูตร “ลงทุน” ครบวงจร

มธ. ผนึก ตลท-SkillLane เปิดตัว Thammasat Digital Skill Space หลักสูตร “นักลงทุน” แห่งอนาคต เสริมความมั่นคง มั่งคั่ง และอิสรภาพทางการเงิน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (วันที่ 4 มี.ค. 2565) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ มธ. ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัท SkillLane เอดูเคชั่น จำกัด เปิดตัวโครงการ Thammasat Digital Skill Space” ซึ่งเป็นการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการลงทุนแบบครบวงจร โดยผู้เรียนจะมีความเข้าใจในระบบนิเวศของตลาดทุนอย่างลึกซึ้ง และได้รับการฝึกฝนทักษะการลงทุนอย่างยั่งยืนท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในโลกอนาคต

โดยโครงการนี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาธรรมศาสตร์สามารถเข้ามาเรียนรู้และสะสม-เทียบโอนหน่วยกิต หรือนำไปนับเป็นรายวิชาเลือกหรือวิชาเสรีได้ตามข้อกำหนดของหลักสูตรได้ โดยในอนาคตจะเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาทุกสถาบัน นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจอีกด้วย

สำหรับ “Thammasat Digital Skill Space” เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาตลาดทุน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ระหว่าง มธ. และ ตลท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางรากฐาน เตรียมความพร้อม และติดอาวุธให้กับผู้เรียน ทั้งในแง่องค์ความรู้ การตัดสินใจ การใช้เครื่องมือ และการฝึกปฏิบัติจริง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จด้านการลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคง ความมั่งคั่ง และอิสรภาพทางการเงินแก่ผู้เรียนในท้ายที่สุด

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงของโลกสมัยใหม่ทำให้บทบาทของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่ง The World Economic Forum มีการคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ ทั่วโลกจะมีตำแหน่งงานหายไปมากถึง 85 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็จะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 97 ล้านตำแหน่ง ซึ่งแม้ว่าโดยภาพรวมตำแหน่งงานจะเพิ่มขึ้น แต่ก็จะมีคนตกงานจำนวนมาก และงานจำนวนมากจะไม่มีคนทำ เพราะคนไม่มีทักษะที่จะทำงานใหม่ๆ ได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องคิดใหม่ว่าจะตอบโจทย์ตรงนี้อย่างไร

“ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยคงไม่สามารถที่จะตอบโจทย์เฉพาะนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่เพียงกลุ่มเดียวได้อีกต่อไป แต่จะต้องตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนในทุกช่วงวัยหรือทุกเจนเนอเรชั่นด้วย ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องส่งเสริมการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ซึ่งถือเป็นทักษะแห่งอนาคต ที่สำคัญก็คือการติดอาวุธและปรับเปลี่ยน mindset ด้านการลงทุน ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความมั่นคงและความมั่นคงในโลกยุคใหม่ได้” รศ.เกศินี กล่าว

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวว่า ภายในโครงการ Thammasat Digital Skill Space จะมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการลงทุนอย่างเข้มข้น โดยตั้งต้นจากหลักสูตรออนไลน์ของ ตลท. (SET
e-Learning) ที่ให้ความรู้ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงความรู้ขั้นสูง อาทิ การวางแผนการเงิน การลงทุนหุ้น อนุพันธ์ กองทุนรวม ตราสารหนี้ ฯลฯ โดย มธ. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีความโดดเด่นทางด้าน Business School ซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับโลกด้านบริหารธุรกิจถึง 3 สถาบัน (Triple Crown) จะนำชุดความรู้เหล่านั้นมาออกแบบใหม่เป็น “รายวิชา” ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ขณะที่บริษัท SkillLane ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาออนไลน์จะเข้ามาร่วมพัฒนาแพลทฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ให้ทุกคนเข้าถึงได้

“ทุกวันนี้โลกการเงินมีความเปลี่ยนแปลงไป เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างง่ายดายผ่านเทคโนโลยี และไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนจำนวนมากเหมือนในอดีต ฉะนั้นการลงทุนจึงเป็นทักษะแห่งโลกอนาคตที่สำคัญสำหรับคนทุกคน และโครงการ Thammasat Digital Skill Space ก็ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับทุกๆ คน ทุกๆ ช่วงวัย”

ดร.ภากร  ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องคือการส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน (financial literacy)  โดยเฉพาะกลุ่มนิสิต นักศึกษา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในการเผยแพร่ความรู้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้และสื่อต่างๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาต่อยอดหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยได้อย่างเป็นระบบ

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนาม MOU กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุนแก่นักศึกษา ด้วยหลักสูตรออนไลน์ SET e-Learning ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการเรียนรู้วิถีใหม่ ตอบโจทย์การเรียนรู้แบบดิจิทัล นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในการสร้างช่องทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเพิ่มทักษะด้านการเงินของคนไทย วางรากฐานในการสร้างบุคลากรด้านการเงิน การลงทุนที่มีคุณภาพ สนับสนุนการพัฒนาการศึกษา ตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน”  ดร.ภากร กล่าว

นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane เผยว่า ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยให้คนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมคนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น นักศึกษาอยากเรียนเมื่อไหร่ ตอนไหน ก็จะเรียนได้ทันที และจากประสบการณ์ตรงของเราที่ทำ Online Learning Platform ให้กับหลากหลายองค์กรชั้นนำ รวมถึงเคยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในโครงการ TUXSA (ทักษะ) หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จด้วยดี เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีของเราเข้ามาช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้โดยไม่มีข้อจำกัด  ด้านเวลาและสถานที่

ทั้งนี้ รายวิชาที่จะเปิดสอนผ่านทางออนไลน์ ประกอบด้วย

1.TU201: ความรู้ทางการเงินสำหรับบุคคล (Financial Literacy for Individuals) ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวทางการวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต การใช้เครื่องมือการเงิน รวมถึงเทคนิคต่างๆ รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และรู้ขยายดอกผล ตลอดจนเทคนิคการจัดสรรเงินออมและการลงทุนแบบ DCA เทคนิคการวางแผนประหยัดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ฯลฯ

2.TU202: ครบเครื่องเรื่องลงทุน (Complete Investment) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทางเลือกและขั้นตอนการลงทุนในตลาดการเงิน พื้นฐานการลงทุนในหุ้น ตั้งแต่ผลตอบแทน ความเสี่ยง ภาษีจากการลงทุน การวิเคราะห์หุ้น วิธีการซื้อขาย การลงทุนในกองทุนรวม เทคนิคการเลือกกองทุน การ DCA อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนกระบวนการบริหารพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง การปรับเปลี่ยนความคิด (Mindset) สร้างความสำเร็จในระยะยาว

3.TU: 301: การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Investment in the Stock Market) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมและการใช้โปรแกรมซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ (Settrade Streaming) การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคนิคการอ่านและตีความข้อมูลสำคัญในงบการเงิน การเลือกลงทุนอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเรียนรู้ลงทุนในอนุพันธ์ประเภทต่างๆ ทั้งฟิวเจอร์และออฟชั่น การลงทุนในตราสารหนี้ ข้อความระวังและความเสี่ยง พื้นฐานการลงทุนใน DW (Derivative Warrant) กลไกการเคลื่อนไหวของราคา ฯลฯ

Back to top button