CPF หนุนชุมชนร่วมดูแล “ป่าชายเลน” ปกป้อง-ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล

CPF หนุนชุมชนร่วมดูแล “ป่าชายเลน” ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเล 


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มุ่งมั่นสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนดูแลผืนป่าชายเลน จับมือหน่วยงานภาครัฐและชุมชนในพื้นที่ ดำเนิน “โครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ระยะที่สอง (ปี 2562-2566) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ระยอง และตราด ควบคู่สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมทั้งนำร่องโครงการกับดักขยะทะเล สร้างมูลค่าเพิ่มขยะทะเลและปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศ

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า  ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” มุ่งมั่นมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม เป็นการดำเนินโครงการในลักษณะยุทธศาสตร์ระยะยาว ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง (2562-2566) ของการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง และตราด ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเล

“ซีพีเอฟเป็นบริษัทผลิตอาหาร ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซีพีเอฟจึงให้ความสำคัญกับการจัดหาอย่างรับผิดชอบ ทั้งการตรวจสอบย้อนกลับ การสนับสนุนเครือข่ายเพื่อการจัดหาปลาป่นที่ยั่งยืน รวมทั้งการนำแนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิถีธรรมชาติ (Nature –Based Solutions) เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ” นายวุฒิชัย กล่าว                             

ทั้งนี้บริษัทฯ ทำการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร และ ระยอง พบว่าผลกระทบทางบวกด้านเศรษฐกิจ คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากกรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว ค่าแรงจากการจ้างงานชุมชน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และผลผลิตจากธรรมชาติ รวมถึงมีแหล่งอาหารที่มั่นคงของชุมชนเพิ่มขึ้น ด้านสังคมคนในชุมชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสังคม  มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมและเผยแพร่องค์ความรู้ และผลทางบวกด้านสิ่งแวดล้อม    พบว่าป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ขึ้น ช่วยป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำตามธรรมชาติช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์ป่าชายเลน บริษัทฯ ยังได้ริเริ่มโครงการกับดักขยะทะเล โดยนำร่องพื้นที่ตำบลบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดการขยะทะเล สร้างรูปแบบการจัดการขยะทะเลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มขยะทะเลและปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง

อย่างไรก็ดีซีพีเอฟดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” มาตั้งแต่ปี  2557 ผลการดำเนินโครงการระยะที่หนึ่ง (ปี 2557- 2561) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ รวมทั้งสิ้น  2,388 ไร่ ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา ต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชน ที่ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร และ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง สนับสนุนกิจกรรมที่มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยมอบเงินสำหรับเป็นกองทุนหมุนเวียนที่ดูแลและบริหารโดยชุมชนเอง สามารถนำไปส่งเสริมด้านอาชีพของชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน   ปัจจุบันอยู่ในระยะที่สองของการดำเนินโครงการฯ  (ปี 2562-2566 ) มีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม พื้นที่ จ.ระยอง สมุทรสาคร และตราด

สำหรับวันที่ 12 เมษายนของทุกปี ตรงกับวันป่าชุมชนชายเลนไทย เพื่อตระหนักถึงคุณค่าของผืนป่าชายเลน รณรงค์ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมอนุรักษ์และดูแลป่าชายเลนของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

Back to top button