“วิจัยกรุงไทย” แนะภาคอสังหาฯ รู้จัก “GRESB-LEED” 2 มาตรฐาน ESG มุ่งองค์กร Net Zero
“วิจัยกรุงไทย” แนะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำความรู้จัก “GRESB-LEED” 2 มาตรฐาน ESG ระดับโลก เน้นสิ่งแวดล้อม มุ่งองค์กร “Carbon Neutrality-Net Zero”
ศูนย์วิจัยกรุงไทย หรือ Krungthai COMPASS ระบุว่ากระแส Carbon Neutrality และ Net Zero จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องปรับปรุงการดำเนินงานให้ได้มาตรฐาน ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาและขยายฐานลูกค้า รวมถึงส่งเสริมผลการดำเนินงาน พร้อมแนะผู้ประกอบการทำความรู้จัก GRESB และ LEED ซึ่งเป็นมาตรฐานด้าน ESG ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ทั้ง 2 มาตรฐานมีเกณฑ์การประเมินที่คล้ายกัน เช่น การลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ การลดก๊าซเรือนกระจก และการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชี้ในปัจจุบัน มีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไทยที่ได้มาตรฐาน GRESB จำนวน 5 ราย และมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ในไทยที่ได้มาตรฐาน LEED จำนวน 212 โครงการ
โดย ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน Environmental, Social และ Governance (ESG) มีความสำคัญมากขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทั่วโลกต่างวางแผนที่จะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero กันในอนาคต โดยในปัจจุบัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 25-40% จากการมีห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับธุรกิจที่ปล่อยมลภาวะสูง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม และกระจก อีกทั้งยังมีการใช้ไฟฟ้าและน้ำที่มากในขั้นตอนการดำเนินงานของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ประเภทของอสังหาริมทรัพย์ ที่ควรหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับการดำเนินงานให้ได้มาตรฐาน ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิ่งแวดล้อม คือ 1) โรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ของโลก เช่น Toyota, Honda และ Apple ได้เริ่มออกกฎระเบียบให้บริษัทต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Net Zero
โดยส่งผลให้ผู้เช่าหรือผู้ซื้อโรงงาน หรือนิคมอุตสาหกรรมในไทยที่มีฐานะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงคู่ค้าของบริษัทดังกล่าวต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero Supply Chain ไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับ 2) อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อาทิ สำนักงาน และห้างค้าปลีกที่มีการใช้พลังงานที่ค่อนข้างมาก สะท้อนจากต้นทุนค่าไฟฟ้าและค่าน้ำที่สูงราวประมาณ 15% ของรายได้ค่าเช่าอาคาร ส่วนกรณีของที่อยู่อาศัยมองว่า ผู้พัฒนาบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมควรปรับปรุงการพัฒนาโครงการเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคม Net Zero ที่อาจมีข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้นเหมือนในสหราชอาณาจักรที่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้ออกกฎระเบียบให้การสร้างที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปต้องปล่อย CO2 ลดลง 30%
ด้าน นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า Global Real Estate Sustainability Benchmark (GRESB) และ Leadership in Energy & Environmental Design (LEED) จัดเป็น 2 มาตรฐาน ESG ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับการยอมรับกันในระดับโลก สะท้อนจากจำนวนผู้ประกอบการและโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวที่มากถึง 1,520 ราย
สำหรับ GRESB และเกือบ 92,700 โครงการ โดย LEED เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยกว่าปีละ 15% และ 10% ในช่วง 5 ปีหลังสุด ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ทั้ง 2 มาตรฐานจะมีจุดแตกต่างกันบ้างตรงที่ GRESB จะเป็นการขอมาตรฐานในระดับผู้ประกอบการ ขณะที่ LEED จะเป็นการขอมาตรฐานรายโครงการ แต่เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนของทั้ง 2 มาตรฐานมีการใช้ปัจจัยที่คล้ายกัน เช่น การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลล่าสุดพบว่าในไทยมีผู้ประกอบการ 5 รายที่ได้มาตรฐาน GRESB และ 212 โครงการอสังหาฯ ที่ได้มาตรฐาน LEED
อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐาน ESG เพื่อเข้าสู่สังคม Net Zero แล้ว การปฏิบัติตามมาตรฐาน GRESB และ LEED ยังมีประโยชน์ต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้
- การส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงด้าน ESG ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ เห็นได้จากผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชื่อดังอย่าง pwc และ Gartner ที่ระบุว่า 79-85% ของนักลงทุนมีการใช้ปัจจัยด้าน ESG ในการตัดสินใจลงทุน
- ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อาทิ สำนักงาน และห้างค้าปลีก เนื่องจากการลงทุนเปลี่ยนอาคารเดิมให้เป็น Green Building ตามมาตรฐาน LEED จะทำให้อาคารมีค่าใช้จ่ายไฟฟ้า 30% และน้ำลดลง10% อัตรากำไรสุทธิของธุรกิจสำนักงาน และห้างค้าปลีกจึงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมได้ราว 3-4% ทั้งนี้ หากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่สนใจสามารถขอคำแนะนำได้จากบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รวบรวมไว้ในบทความเพื่อให้การจัดทำมาตรฐาน GRESB และ LEED ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด