“กัมพูชา” ยกย่อง “ซีพีเอฟ” ปฏิบัติต่อแรงงานเท่าเทียม
"กระทรวงแรงงานกัมพูชา" ยกย่อง "ซีพีเอฟ" ปฏิบัติต่อแรงงานเสมอภาคเท่าเทียม ตามมาตรฐานสากล
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF สร้างความมั่นใจรัฐบาลกัมพูชา ซีพีเอฟมีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อพนักงานทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดมาตรฐานสากล พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถของพนักงานทุกคน
นายปรีดา จุลวงษ์ รองประธานกรรมการ ซี.พี. กัมพูชา และนางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือซีพี–ซีพีเอฟ เข้าพบและประชุมกับ นายอิต ซอมเฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ ประเทศกัมพูชา เพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจของ ซี.พี.กัมพูชา รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานของบริษัทฯ
“ซี.พี.กัมพูชาได้ดำเนินธุรกิจในประเทศกัมพูชามาเป็นระยะเวลา 26 ปี และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในกัมพูชามาโดยตลอด ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลกัมพูชารวมทั้งกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ
บริษัทฯ ยึดมั่นในการปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามหลักสากล รวมถึงสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือและขีดความสามารถแรงงานของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ร่วมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรและยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทานแก่ผู้บริโภคชาวกัมพูชา“นายปรีดา หล่าว
ทั้งนี้ นายอิต ซอมเฮง ชื่นชมการลงทุนและดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟในประเทศกัมพูชา ผ่าน บริษัท ซี.พี.กัมพูชา เป็นประโยชน์ต่อการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างโอกาสให้ประชาชนชาวกัมพูชา นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้จัดจ้างชาวกัมพูชาจำนวนมากทำงานในประเทศไทย ซึ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกัมพูชาอย่างมาก
นอกจากนั้น นายอิต ยังย้ำว่า ซีพีเอฟ และ ซี.พี.กัมพูชา ยังเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการด้านแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญกับการจัดจ้างแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และยึดมั่นตามแนวปฏิบัติด้านแรงงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสนับสนุนให้บริษัทเดินหน้าขยายการลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง
ด้านนางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ให้ข้อมูลกับรัฐมนตรีอิต ซอมเฮง ว่า ปัจจุบัน สถานประกอบกิจการของซีพีเอฟในประเทศไทย มีการจัดจ้างแรงงานต่างชาติจำนวน 8,042 คน และยังต้องการแรงงานเพิ่มอีก 2,000 อัตรา โดยซีพีเอฟมีนโยบายการจัดจ้างแรงงานต่างชาติ รวมทั้งชาวกัมพูชาเป็นพนักงานของบริษัทฯ โดยตรง มีกระบวนการจ้างเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญแรงงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมรวมถึงค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการทำงาน และมีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ก้าวทันกับสถานการณ์
นอกจากนั้นซีพีเอฟยังได้ร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation) ในการดำเนินโครงการช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน Labour Voice Hot Line by LPN ต่อเนื่องตั้งแต่ปี2560 เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานได้แจ้งเรื่อง หรือขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ในภาษากัมพูชา และภาษาเมียนมา รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิแรงงาน
สำหรับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซีพีเอฟมีมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยเพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงานทุกคนรวมถึงพนักงานชาวกัมพูชาให้มีความปลอดภัยจากโรคระบาดตั้งแต่การเดินทาง สถานที่งานและที่พัก พร้อมทั้งยังได้ดูแลและอำนวยความสะดวกให้พนักงานกัมพูชาในระหว่างการทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างมั่นใจ
ขณะที่บริษัทฯ ยังได้จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดให้กับพนักงานทุกคนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กร อาทิ รางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น“ ประจำปี 2564 ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
รวมถึงรางวัลองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย 2021 จากนิตยสาร HR Asia นิตยสารด้านทรัพยากรบุคคลระดับภูมิภาคเอเชีย และล่าสุดได้รับรางวัล รายงานความยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2021 ระดับสูงสุด Gold Medal ด้านสิทธิมนุษยชน อีกด้วย
พร้อมกันนี้ คณะผู้บริหารของซีพีเอฟและซี.พี.กัมพูชา ยังได้ลงพื้นที่ในจังหวัดกัมปอต เพื่อเยี่ยมชาวกัมพูชาที่เคยมาทำงานกับซีพีเอฟในประเทศไทย ซึ่งทุกคนกล่าวว่าภูมิใจที่ได้มาทำงานร่วมกับซีพีเอฟ และมีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น และยินดีที่จะกลับมาทำงานกับซีพีเอฟอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแนวทางในการสนับสนุน และส่งเสริมการศึกษาผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศกัมพูชา และประเทศไทย เพื่อต่อยอดการศึกษาให้แก่นิสิต–นักศึกษาชาวกัมพูชาได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในประเทศไทย และกลับไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศกัมพูชาต่อไป