“สภาดิจิทัล” ผนึก “กสทช.-ITU” หนุนหญิงไทยเข้าถึง ICT

“สภาดิจิทัล” ผนึก “กสทช.-ITU” จัดงาน “Girls in ICT Access and Safety” สนับสนุนศักยภาพของหญิงไทยให้เข้าถึง ICT หวังลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมยุค 5.0 อย่างยั่งยืน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานพัฒนาโทรคมนาคมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) องค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ จัดเวทีระดับโลก “Girls in ICT Access and Safety” ผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจากนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดงานและบรรยายหัวข้อ “ยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลและการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับเยาวชนไทย” พร้อมด้วยการเปิดมุมมองจากผู้บริหารหญิงของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่ผลักดันนโยบายการเข้าถึง ICT ในกลุ่มผู้หญิง

รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเยาวชนหญิงคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในแวดวง ICT ในหลากหลายอาชีพทั้งในภาคธุรกิจ สตาร์ทอัพ และการศึกษา โดยเวทีดังกล่าวเป็นการแสดงพลังสนับสนุนวาระของโลกพร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงและเยาวชนหญิงมีทัศนคติ ความเชื่อ และศักยภาพในการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคม

นายศุภชัย ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ความท้าทายที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกมีอยู่ 3 เรื่องสำคัญคือ (1.) การจัดการความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน  (2.) การปรับตัวสู่ดิจิทัลและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และ (3.) การสร้างความตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันเรากำลังก้าวไปสู่ยุค 5.0 จำเป็นต้องผสมผสานระหว่าง “เทคโนโลยี” เข้ากับ “กรอบความคิด” (Mindset) ในการวางรากฐานทางสังคมเพื่อลดช่องว่าง ลดอคติ รวมไปถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กหญิงและสตรีให้เพิ่มมากขึ้น เพราะจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า มีผู้หญิงเพียง 37% ที่จบการศึกษาด้านไอซีทีและวิศวกรรม ซึ่งเหตุผลที่ผู้หญิงสนใจในด้านดังกล่าวน้อยอาจเนื่องมาจากช่องว่างระหว่างเพศ และบรรทัดฐานสังคม

ทั้งนี้จึงต้องมีการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้น จึงต้องมีการวางแนวทางใน 5 ด้านสำคัญ คือ (1.) ต้องเริ่มจากตั้งเป้าหมาย (2.) สร้างตัวชี้วัดและประกาศเป็นนโยบายที่มีความโปร่งใส (3.) ขับเคลื่อนตามกลไกการตลาดสร้างวัฒนธรรมให้เกิดความเท่าเทียม (4.) เปิดโอกาสให้ผู้หญิงแสดงความสามารถและเปิดโอกาสเป็นผู้นำ และ5.พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ผู้หญิงเข้าถึงได้มากขึ้น

“สภาดิจิทัลฯ มีแนวทางส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ทั้งในด้านการศึกษาและ ICT ของไทยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดช่องว่างลดความแตกต่างทางเพศ ซึ่งเราไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากผู้นำสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ในการพัฒนาหญิงรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้าน ICT รวมถึงการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานหญิงให้สามารถแข่งขันเตรียมพร้อมสู่ยุค 5.0 ที่สำคัญต้องสร้างต้นแบบหรือผู้นำทางความคิดในการพัฒนาความสามารถด้าน ICT และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับเด็กหญิงและสตรีในทุกระดับเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคม” นายศุภชัย กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านวิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า ประเด็น Girls in ICT ถือเป็นวาระของโลกที่มุ่งให้ความสำคัญในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศด้านดิจิทัล (Gender Digital Divide) จากงานวิจัยพบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียมดังกล่าวมาจาก 3 เรื่องหลักคือ (1.) ความรู้ด้านดิจิทัล (2.) การเข้าถึง และ (3.) ความปลอดภัยทางออนไลน์ ทั้งนี้พบว่าผู้หญิงมีความรู้และโอกาสในการเข้าถึง ICT น้อยกว่าผู้ชายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และยังพบว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงด้านการคุกคามทางเพศและถูกกลั่นแกล้งมากกว่าผู้ชาย

ทั้งนี้กสทช.ในฐานะผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการ คนสูงอายุ กลุ่มด้อยโอกาส และกำลังจะขยายไปในกลุ่มสตรี เยาวชน ได้มีการส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อ และเร่งสื่อสารแนวปฏิบัติการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้เกิดความเหมาะสม โดยมองว่าประเด็นดังกล่าวต้องทำงานร่วมกันแบบบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการผลักดันนโยบาย และกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศใน ICT อย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวลูลี่ เดมซีย์ (Rury Demsey) ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศสำนักงานภูมิภาคสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ITU) ได้เปิดเผยผลสำรวจช่องว่างการเข้าถึงระบบดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยพบว่าผู้หญิงทั่วโลกมีอัตราการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลน้อยกว่าผู้ชาย ดังนั้น ITU จึงได้เดินหน้าให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมการเข้าถึงทักษะดิจิทัลโดยเปิดเวทีและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและเยาวชนหญิงทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสายงาน STEM (Science Technology Engineering and Mathematics Education) โดยวางเป้าหมายในปี 2565-2567 จะมุ่งเน้นเรื่องการเข้าถึงและความปลอดภัย ทักษะการใช้งานดิจิทัลและความเป็นผู้นำ เพื่อเป็นพลังสำคัญให้ผู้หญิงและเยาวชนหญิงในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

อย่างไรก็ตามภายในงานได้มีการเปิดวงเสวนาให้ผู้นำผู้หญิงและเยาวชนหญิงคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงแนวคิดเกี่ยวกับด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ นางสาวกมลนันท์ เจียรวนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี และนางสาวพริมา องค์วิเศษ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฟิวเจอร์ ชาร์จ มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในหัวข้อ “สังคมดิจิทัลและความยั่งยืน”

นางสาวกมลนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี กล่าวว่า  ความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้หญิงควรหยิบยกเป็นประเด็นสำคัญ ผู้หญิงก็ควรต้องต่อสู้กับบรรทัดฐานทางสายอาชีพบางอาชีพที่สังคมกำหนดให้แค่ผู้ชายเข้าไปทำงาน โดยพบว่ามีผู้หญิงเพียง 19% เท่านั้นที่จบการศึกษาด้าน STEM และมีผู้หญิงเพียง 24% ได้ทำตำแหน่งผู้จัดการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่วงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยผู้ชายอย่างมีนัยยะสำคัญ

ดังนั้นบรรทัดฐานสังคมยุคจึงนี้ควรเปลี่ยนแปลงและเปิดรับให้โอกาสผู้หญิงได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรืออย่างน้อยต้องเข้าใจความสำคัญของยุคดิจิทัล เพื่อขยายโอกาสทางความรู้และอาชีพให้แก่ผู้หญิง ผลักดันให้การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายในทุกพื้นที่ ในขณะเดียวกันผู้ปกครองต้องสร้างกรอบความคิดให้เด็กผู้หญิงมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกความจริงกับโลกออนไลน์ได้อย่างสมดุลและปลอดภัย ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าหากสังคมเปิดโอกาสในการเข้าถึง ICT จะทำให้ผู้หญิงสามารถขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรมเพื่อสร้างโอกาสให้สังคมอย่างยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ได้เช่นกัน

สำหรับเวทีดังกล่าวยังได้มีการแชร์ประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจจาก ด.ญ.พรปวีณ์ ม้วนหรีด วัย 14 ปี ทูตเยาวชนหญิงไทยคนแรกและคนปัจจุบันของ NASA Artemis Gerneration GISTDA Thailand & NASA USA ได้แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและอนาคตของเทคโนโลยี” ว่า มีความสนใจเรื่องของ STEM โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี รวมถึงด้านอวกาศมาตั้งแต่เด็กเพราะมีความฝันที่อยากจะเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Extra-Terrestrial (E.T.)

รวมทั้งได้มีโอกาสเข้าร่วมนิทรรศการอวกาศของ NASA จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินตามความฝันที่อยากจะท่องอวกาศ และตอนนี้ก็ได้ทำความฝันให้เป็นจริงสำเร็จแล้วเพราะได้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอแนวคิดการใช้ระบบ GPD นำทางเชื่อมโยงกับการท่องอวกาศและดาวเทียมต่อคณะกรรมการโครงการท่องอวกาศ รู้สึกภูมิใจมากที่เป็นตัวแทนเยาวชนคนไทยที่ได้ร่วมงานกับ NASA โดยตอนนี้อยากจะผลักดันเรื่อง Space Technology ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีในอนาคตที่ประเทศไทยควรต้องเริ่มพัฒนาจากการส่งเสริมเยาวชนที่เป็นหัวใจและอนาคตของชาติให้ได้รับแรงบันดาลใจ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำให้เยาวชนหญิงได้เข้าถึงเทคโนโลยีเป็นวงกว้าง สิ่งสำคัญต้องเชื่อมั่นว่าผู้หญิงมีพลัง มีความฝัน และศักยภาพเพียงพอที่จะทำสิ่งที่ผู้ชายทำได้เช่นเดียวกัน

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “ผู้นำหญิงแกร่งในโลกสตาร์ทอัพ” ว่า การเป็นผู้บริหารหญิงในกลุ่มสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องง่ายหนัก สิ่งสำคัญต้องมี Passion มีความเชื่อว่าผู้หญิงมีความสามารถทำอะไรได้เหมือนกับผู้ชาย ลองค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราอยากจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม หาสิ่งที่สร้างผลกระทบทางบวกให้กับสังคมให้ได้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองด้วย ในแวดวงสตาร์ทอัพต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่เก่งและมีศักยภาพ โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องเพศและวัยมาเป็นตัวกีดกันความสามารถ ควรที่จะสนับสนุนให้พวกเขาได้บรรลุเป้าหมายและความฝันไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศใดก็ตาม

โดยภายในเวที “Girls in ICT Access and Safety” ยังมีผู้บริหารหญิงและเยาวชนหญิงในแวดวงต่างๆในการมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้หญิงในการเข้าถึง ICT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่นหมอดี และนางสาวทชา ปัญญาเนรมิตดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Alpha Finance ผู้นำด้านบริการทางการเงินแบบไร้ตัวกลางบนบล็อกเชน นางสาวณิรชา อ่อนมา และนางสาวณัฐณิชา เดชสกุลฤทธิ์ สองตัวแทนเยาวชนหญิงของประเทศไทยผู้ชนะการแข่งขัน Drone Odyssey Challenge ปี 2563-2564 รวมไปถึงนางสาวญดา ชัยวิรัตน์ เกมสตรีมเมอร์ชื่อดังจากเพจ Haruza ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เส้นทางแห่งความสำเร็จในวงการ ICT

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าทุกคนมีความเท่าเทียม ผู้หญิงต้องได้รับโอกาส สามารถความรู้ด้าน ICT ไปต่อยอดในด้านการศึกษาและประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีได้ในอนาคต รวมทั้งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองในยุค 5.0 ได้

Back to top button