“CPF-กรมป่าไม้” ต้อนรับ “รร.นานาชาติคอนคอร์เดียน” ร่วมอนุรักษ์-ฟื้นฟูป่า
“CPF-กรมป่าไม้” ต้อนรับ “รร.นานาชาติคอนคอร์เดียน” ร่วมโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ส่งเสริมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้
นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง และ นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักคุณค่าทางสังคมและความหลากหลายทางชีวภาพ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวถึงความสำเร็จของการฟื้นฟูป่าที่นี่ ที่เกิดจากความร่วมมืออย่างจริงจังในลักษณะ 3 ประสาน
โดยกรมป่าไม้ ภาคเอกชน คือ ซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่่เขาพระยาเดินธง ร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูพลิกฟื้นจากผืนป่าเสื่อมโทรม จนปัจจุบันผืนป่าที่นี่กลับมาเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ ด้วยนวัตกรรมการปลูกป่า 4 รูปแบบ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของสัตว์ ทำให้สัตว์ต่างๆ เริ่มเข้ามาอาศัยและหากิน นอกจากนี้โครงการยังเป็นต้นแบบการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย
ทั้งนี้มีโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ซึ่งก่อตั้งโดยคุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ พาน้องๆ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่เกรด 9 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 3) และเกรด 11 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 5) พร้อมด้วยอาจารย์และผู้ปกครอง รวมประมาณ 40 คน ร่วมทำกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า พื้นที่โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก
เขาพระยาเดินธง” ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โดยมีนายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง กรมป่าไม้ นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักคุณค่าทางสังคมและความหลากหลายทางชีวภาพ และคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ซีพีเอฟ ให้การต้อนรับ และนำศึกษาเส้นทางธรรมชาติ
สำหรับกิจกรรมลงพื้นที่สัมผัสห้องเรียนธรรมชาติครั้งนี้ ทุกคนได้เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนการปลูกต้นไม้แบบปราณีต ซึ่งทุกคนบอกว่าเป็นความรู้ใหม่ที่พวกเขาได้รับ โดยมีพี่ๆ กรมป่าไม้และพี่ๆ ซีพีเอฟให้คำแนะนำ ตั้งแต่ขนาดของหลุมที่ปลูกต้นไม้ ที่ต้องมีขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และลึก 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยที่คลุกกับดิน นำกล้าไม้วางในหลุม นำดินกลบที่โคนต้น และปักเสาไม้ไผ่ พร้อมผูกเชือกกับไม่ไผ่และต้นไม้
ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ต้นไม้ทรงตัวอยู่ได้หากโดนแรงลม คลุมฟางที่โคนต้น รดน้ำ ติด Tag หมายเลขต้นไม้ พร้อมทั้งเรียนรู้เรื่องการจดบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นไม้เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตในปีถัดไป
โดยในกิจกรรมนี้ มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม ทุกกลุ่มต้องลงมือขุดหลุมเอง เพื่อปลูกต้นไม้ทั้งหมด 200 ต้น บนพื้นที่ 1 ไร่ ได้แก่ ต้นตะเคียนทอง ประดู่ป่า ต้นพะยูง และต้นพะยอม ซึ่งต้นไม้เหล่านี้เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ ซึ่งทุกคนร่วมมือกันทำภารกิจแรกสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย และสภาพอากาศก็เป็นใจแม้จะมีแดดส่องลงมา แต่ก็มีลมพัดโชยมาให้คลายร้อนลงได้ ซึ่งทุกคนตั้งใจทำกิจกรรม
โดยมีพี่ๆ กรมป่าไม้และพี่ๆซีพีเอฟ คอยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำในทุกกิจกรรมเป็นความภาคภูมิใจที่ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ในครั้งนี้ เนื่องจากต้นไม้ที่นำมาปลูกทั้ง 200 ต้น เป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ได้รับบริจาคต้นกล้ามาจาก MQDC จำนวนทั้งหมด 4,000 ต้น และชมรม Seed of Hope หรือเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ได้ช่วยกันดูแลกล้าไม้ อนุบาลต้นกล้ามาเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้กล้าไม้แข็งแรงพอ ที่จะนำมาปลูกต่อไป ซึ่งล่าสุดได้นำกล้าไม้ทั้งหมด บริจาคให้โครงการเขาพระยาเดินธง เพื่อนำมาปลูก เพิ่มพื้นที่สีเขียว เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ขณะที่ทุกคนร่วมกิจกรรมยิง Seed Ball ดินเหนียวก้อนกลม มีเมล็ดพันธุ์ไม้อยู่ภายในที่มาจากการผสมปุ๋ยหมัก หรือดินดำปลูกต้นไม้ที่ผสมปุ๋ยแล้ว และปั้นเป็นก้อนพอเหมาะ นำไปผึ่งแดดหรือลม ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดตามธรรมชาติในพื้นที่เสียงสะท้อนจากทุกคนหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมปลูกป่า ทำให้ทุกคนประทับใจและเป็นประสบการณ์ใหม่
โดยสิรินยา หิรัญวิริยะ หรือ น้องปาล์มมี่ ประธานชมรม Seed of Hope กำลังศึกษาอยู่เกรด 11 เล่าว่า วันนี้ มากับเพื่อนๆ เพื่อร่วมกันปลูกต้นไม้ที่เขาพระยาเดินธง 200 ต้น รู้สึกสนุกและประทับใจที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้เรียนรู้วิธีการปลูกป่าที่ถูกต้อง อยากเชิญชวนทุกๆ คนมาร่วมกันปลูกป่า ดูแลรักษาปัญหาโลกร้อน ป่าไม้ที่ถูกตัดไป การปลูกป่าก็เป็นส่วนที่ช่วยดูดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน
ด้าน รมิตา ศรีอัษฎาวุธกุล น้องพราว กำลังศึกษาเกรด 9 บอกรู้สึกดีที่มีโอกาสได้มาสัมผัสธรรมชาติและได้ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้ไป 6-7 ต้น อยากเชิญชวนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสแวดล้อม คนรุ่นใหม่อยู่กับเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ควรมองข้ามธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นผู้ให้เรามาตลอด การที่เรามีโอกาสมาปลูกต้นไม้ ก็เหมือนกับเป็นผู้ให้ ที่คืนกลับให้ธรรมชาติ
น้องธีร์ ลือสุขประเสริฐ เกรด 11 เป็นอีกคนหนึ่งที่ เชิญชวนให้มาช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากกว่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยธรรมชาติและช่วยโลกให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับ น้องทญา สุขสันต์ปานเทพ หรือ น้องมิ้ม เกรด 11 ที่บอกว่า ได้มาทำกิจกรรมปลูกป่าในวันนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์ เพราะช่วงโควิดก็ไม่ได้ออกไปไหน
โดยการที่ทุกคนมาปลูกป่าก็ช่วยโลก อยากให้เพื่อนๆ มาร่วมกิจกรรม ได้เข้าใจธรรมชาติ ช่วยป่า ช่วยโลก น้องมิ้มเล่าด้วยว่า โรงเรียนสนับสนุนนักเรียนให้ทำกิจกรรม โดยมีการจัดตั้งชมรมต่างๆ และเธอเป็นสมาชิกของชมรม Seed of Hope ที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้เช่นกัน เพื่อที่จะหารายได้ไปใช้ในเรื่องของการปลูกป่า
อาชว์พัชร์ อัศวเทววิช น้องเซน เกรด 9 เล่าประสบการณ์ลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า มีโอกาสมาปลูกป่าที่เขาพระยาเดินธง เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ฟื้นฟูธรรมชาติ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสมาปลูกป่า ช่วยเหลือโลกทางอ้อม เราอาจทำลายป่าไปเยอะ วันนี้รู้สึกดีที่ได้มาช่วยเหลือโลก
อย่างไรก็ดี ไม่เพียงประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าที่ทุกคนได้รับ แต่กิจกรรมครั้งนี้ ทุกคนได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เช่น ครอบครัวของน้องอั่งเปา และ น้องปราณ หงษ์จินตกุล ที่มากันครบ คุณพ่อ คุณแม่ และน้องสาว นอกเหนือจากประสบการณ์นอกห้องเรียน กิจกรรมครั้งนี้ สะท้อนมุมมองและจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมเติบโตและร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นความร่วมมือของกรมป่าไม้ ซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่นี่มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพิ่มเติมรวม 6,971 ไร่ เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าให้กับพื้นที่ป่าอื่น ๆ ของประเทศไทย และยังเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าให้กับหน่วยงานที่สนใจ ทั้งภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และสถานศึกษา
โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานและผู้สนใจที่ขอเข้ามาเยี่ยมชมโครงการฯ อาทิ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), บจ.บี.กริม ดร.เกฮาร์ด ลิงค์ บิวดิ้ง, มหาวิทยาลัยมหิดล, วิทยาเขตกาญจนบุรีสาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี เข้าร่วมค่าย SMART-i CAMP เป็นต้น