SKY ร่วมตั้ง “Thammasat AI Center” ปั้นสายเลือดใหม่สู่ Tech Ecosystem

“สกาย ไอซีที” ลุยภารกิจใหญ่ หนุนการศึกษาด้าน AI ร่วมปั้น “Thammasat AI Center” เปิดพื้นที่สร้าง Tech Talent สายเลือดใหม่สู่ Tech Ecosystem


นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการ Digital Platform และ AI-Empowered Solution ระดับประเทศ กล่าวว่า สกาย ไอซีที ได้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลัก ส่งมอบเทคโนโลยีนำร่องด้าน AI (AI Demos) แก่ Thammasat AI Center เพื่อเพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้ด้าน AI ให้แก่นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ให้สามารถขึ้นสู่การเป็น Tech Talent ที่จะเติมเต็ม Tech Ecosystem ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งและพร้อมเดินหน้าสู่อนาคต

โดยจุดเด่นของเทคโนโลยีนำร่องด้าน AI สุดล้ำที่สกายไอซีทีนำมาร่วมสนับสนุนการจัดตั้ง Thammasat AI Center ในครั้งนี้ อาทิ SenseStudio โซลูชันควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่ที่กำหนดได้ล่วงหน้า โดยนำเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI แบบเรียลไทม์ ตั้งแต่เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าและร่างกาย ระบบนับจำนวนคน และเทคโนโลยีการอ่านอักขระด้วยแสง (OCR) นำภาพวิดีโอมาวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถพิสูจน์ตัวตนของผู้มาเยือน หรือช่วยจัดการการเข้าถึงเฉพาะพื้นที่ได้

สำหรับ SenseCare แพลตฟอร์มด้านสุขภาพอัจฉริยะที่ผสานการทำงานของ AI กับเทคโนโลยีหลังการประมวลภาพ 3 มิติ (3D Image Post-Processing Technology) มาช่วยวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ช่องอก ภาพ CT Scan หัวใจ ปอด และตับ และประมวลผลโดยอิงจากผลวิจัย การวิเคราะห์ทางการแพทย์ และแผนการรักษาในอดีต เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นและการวางแผนรักษาได้อย่างรวดเร็ว

ด้าน SenseEducation แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้เกี่ยวกับคำสั่งพื้นฐานและระบบการทำงานของ AI SenseMARS และ SenseMARS Effect โซลูชันที่ผสานโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน พร้อมซอฟต์แวร์ช่วยประมวลผลและแปลงโฉมผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจผลิตภัณฑ์ด้านความงามได้

การพัฒนา Tech Talent ไม่อาจให้แค่ความรู้ทางทฤษฎีเพียงอย่างเดียว หากต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนเหล่านี้ เราหวังว่า AI Demos ที่สกาย ไอซีทีตั้งใจส่งมอบในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับการศึกษาด้าน AI ในประเทศไทยให้ทัดเทียมระดับสากล พร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโลกทัศน์ของเหล่าว่าที่ Tech Talent สายเลือดใหม่ ให้สามารถเชื่อมต่อทุกองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์ต่อยอดเทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจและสังคมไทย” นายสิทธิเดช กล่าว

ด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมดิจิทัลและส่งเสริมพัฒนาทักษะ ไม่ว่าจะการผลิตบัณฑิตด้านดิจิทัลเพื่อออกไปรับใช้สังคม การพัฒนาหลักสูตรที่ส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลทั้งในรูปแบบ online และ offline เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้เพื่อ upskill หรือ reskill ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม นอกจากนี้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยก็ยังได้ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการทางด้านดิจิทัล รวมไปถึงการให้คำปรึกษาให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภูมิใจที่ได้ริเริ่มการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางด้านปัญญาประดิษฐ์ในอีกมิติหนึ่ง คือการสถาปนาศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   เพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมของนักเรียน นักศึกษา ภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป ตลอดจนเป็นแหล่งการจัดทำวิจัยทางด้านปัญญาประดิษฐ์ของนักวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ” รศ.เกศินี กล่าว

Back to top button