BEC ร่วมงานเสวนา “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการบันเทิง
BEC ร่วมงานเสวนาระหว่างประเทศ “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพความร่วมมือในวงการอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ระหว่างจีน-ไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิทยุและโทรทัศน์
นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC ได้เข้าร่วมการเสวนาระหว่างประเทศ “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ซึ่งจัดโดย สำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน (National Radio and Television Administration) หรือ NRTA ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, บริษัท เซนจูรี่ ยูยู เทคโนโลยี จำกัด และสถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลเจียงซู ประเทศจีน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิทยุและโทรทัศน์ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพความร่วมมือในวงการอุตสาหกรรมวิทยุ และโทรทัศน์ระหว่างจีน-ไทย”
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอุตสาหกรรมด้านความบันเทิงของจีน–ไทย รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจความบันเทิงและวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นไปในทิศทางการสร้างเนื้อหาเป็นไปตามมาตรฐาน ตลอดจนการผลิตเนื้อหาของภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ หรือเนื้อหาทางด้านให้ความบันเทิง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน
“ช่อง 3 ของเราอยู่คู่กับคนไทยมากว่า 52 ปี ตลอดระยะเวลาเราเป็นผู้นำของการผลิตละคร เราผลิตละครปีละประมาณ 36เรื่อง กว่า 1000 ชั่วโมง ผลิตละครมาทุกรูปแบบ เพื่อตอบสนองความนิยมของคนไทยเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและพื้นฐานการรับชมของดูเปลี่ยนไป ความเป็นสากลที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เรามีผู้ชมจากหลายประเทศ ซึ่งปัจจุบันละครของเราเผยแพร่ไปมากกว่า 30 ประเทศ ทั่วโลก ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้ชมส่วนใหญ่ของช่อง 3 และประเทศจีนนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแฟนละครช่อง 3 เยอะมากที่สุดก็ว่าได้ ตั้งแต่ปี 2018 ละครช่อง3 ก็ได้เข้าไปให้แฟนๆชาวจีนได้ชมกว่า 40 เรื่องทีเดียว จึงทำให้แนวโน้มการทำงานเราเปลี่ยนแปลงในทิศทางการทำละครที่ตอบโจทย์คนดูในประเทศจีนมากขึ้น ที่มากกว่านั้นคือในระยะต่อไป เราอาจจะร่วมมือกับประเทศจีน และหยิบรสนิยมของคนไทย-จีน ที่คล้ายกันมาศึกษา ใช้กับการเล่าเรื่อง ออกแบบฉาก วางแนวทางการทำละครให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างตอบความต้องการทั้งในตลาดไทยและจีน” นายสุรินทร์ กล่าว
ขณะเดียวกัน นายเหยน เฉิงเซิ่ง อธิบดีกรมการต่างประเทศสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน สำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน (National Radio and Television Administration) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้โลกในยุคปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล การติดต่อสื่อสาร การดำเนินงาน ทางด้านธุรกิจ การทำธุรกรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาว่างในการหาความบันเทิงทางด้านภาพยนตร์ ละคร และ ซีรีส์หลายปีที่ผ่านมา ภาคส่วนสื่อวิทยุและโทรทัศน์จีน-ไทย ได้มีความร่วมมือกันอย่างรอบด้าน จุดประกายความร่วมมือด้านวัฒนธรรมอย่างโดดเด่นระหว่างสองฝ่ายและทั่วภูมิภาค สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์และวิทยุ
รวมถึงพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลให้เจริญก้าวหน้า ที่ได้มุ่งสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์จีน-ไทยให้พัฒนาร่วมกัน พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือในประเด็นต่างๆ อาทิ การแสดงบทบาทเสริมสร้างความมั่นคงเสถียรภาพในการพัฒนามิตรไมตรีสัมพันธ์ระหว่างจีนไทย และสานบทบาทในการเป็นจักรกลขับเคลื่อนความก้าวหน้าร่วมกัน โดยใช้โอกาสใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยี ผ่านการเสวนาที่พูดถึงวงการด้านอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทยใน รวมถึงนิทรรศการเผยแพร่รายการดีเด่นจีน-ไทย เป็นต้น
ด้านผู้จัดละครนางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และโปรดิวเซอร์ละคร “บุพเพสันนิวาส” เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทย จีน หรือในเอเชียที่มีวัฒนธรรมบางส่วนคล้ายคลึงกัน ต้องดูกฎระเบียบหรือศึกษาการเซ็นเซอร์เนื้อหาให้เหมาะสมกับบริบทในประเทศนั้นๆ
ส่วนด้านเนื้อหาก็ต้องคัดสรรมาเป็นอย่างดี มีความสนุกสนาน เช่น ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าสามารถสอดแทรกวัฒนธรรมไปในละครได้ โดยได้แสดงถึงความแข็งแรงด้าน Soft Power ที่ครอบคลุมเรื่องการแต่งกาย อาหารไทย การท่องเที่ยว ผ่านตัวบทละครที่ดีและการสร้างสรรค์บนความตั้งใจ เพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ และสามารถสร้างกระแสสร้างเรตติ้งได้สูง แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีปัจจัยด้านดิจิทัลเข้ามา แต่ถ้ามีเนื้อหาคอนเทนต์ที่คนดูชอบ พวกเขาก็ยังเลือกดูทีวีอยู่