CPAC คว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลก “Excellence in Concrete Construction”

CPAC Green Solution คว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกงาน “Excellence in Concrete Construction Awards 2022” ตอกย้ำผู้นำด้านนวัตกรรมการก่อสร้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยกระดับการก่อสร้างไทยสู่ระดับสากล


นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทาง CPAC Green Solution ได้ส่งผลงานการก่อสร้างสะพานด้วยเทคโนโลยี UHPC (Ultra-high Performance Concrete) เข้าประกวดกับทางสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับเหรียญทอง ต่อมาทางสมาคมฯ จึงส่งผลงานดังกล่าวเข้าร่วมประกวดงาน “The ACI Excellence in Concrete Construction Awards 2022” ซึ่งจัดโดย American Concrete Institute (ACI) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในสาขา Infrastructure จากผลงานการก่อสร้างที่ตัวแทนของสมาคมคอนกรีตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่งเข้าประกวด

“รางวัลนี้นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเอสซีจี และ CPAC Green Solution ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รางวัลนี้เป็นสิ่งการันตีว่าเทคโนโลยี UHPC (Ultra-high Performance Concrete) ของเราเป็นนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติว่าสามารถแก้ปัญหาทางวิศวกรรมได้จริง มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ด้านการออกแบบให้สวยงาม สร้างแรงบันดาลใจให้วิศวกรและสถาปนิก และยกระดับการก่อสร้างไทยให้เทียบเท่าหรือสูงกว่าระดับสากล” นายชนะ กล่าว

สำหรับจุดเด่นของนวัตกรรม CPAC Ultra Bridge Solution คือ การก่อสร้างสะพานด้วยเทคโนโลยี UHPC (Ultra-high Performance Concrete) ซึ่งเป็นคอนกรีตสมรรถนะสูง เพื่อแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโครงสร้างของสะพานโค้ง (Arch Bridge) ที่ทำการก่อสร้างในพื้นที่สำนักงานใหญ่ของ SCG ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านความสูงของสะพาน ทำให้ฐานรากต้องแบกรับแรงถีบในปริมาณสูง ฐานรากจึงต้องมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จึงมีการเปลี่ยนการออกแบบเป็นระบบคานยื่นออกจากสองฝั่งเพื่อกำจัดแรงถีบเข้าสู่ฐานรากดังกล่าว และใช้คอนกรีตสมรรถนะสูง UHPC ในการรับแรงดัดในคานโครงสร้างสะพาน ด้วยนวัตกรรมคอนกรีตดังกล่าวที่ไม่ต้องเสริมเหล็ก ทำให้ตัวสะพานมีความบางมาก และแข็งแกร่งมากกว่าเดิม รับน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม/ตารางเมตร โดยคานสะพานช่วงที่บางที่สุดหนาเพียง 30 เซนติเมตร ส่วนพื้นของสะพานช่วงที่บางที่สุดเฉพาะงานโครงสร้างไม่รวมงานสถาปัตย์ หนาเพียง 2.5 เซนติเมตรเท่านั้น ถือเป็นสะพานคอนกรีตที่บางที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบเครื่องจักรสมรรถนะสูง พัฒนาสารผสมเพิ่มกำลังคอนกรีต รวมถึงมีการออกแบบติดตั้งระบบ Internet of Things (IoT) ในการตรวจวัดสุขภาพสะพานเพื่อที่จะสามารถติดตามตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างตลอดอายุการใช้งาน ที่สำคัญการก่อสร้างด้านเทคโนโลยี UHPC ยังลดปริมาณคาร์บอนในการก่อสร้าง ได้ไม่น้อยกว่า 20% และสามารถยืดอายุการใช้งานโครงสร้างในระดับเกินกว่า 100 ปี

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการก่อสร้างสะพาน ทาง CPAC พยายามที่จะต่อยอดเทคโนโลยี UHPC โดยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเปลี่ยนแบบโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ จากโครงสร้างคอนกรีตอัดแรงหรือโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ เป็นโครงสร้าง UHPC โดยมีจุดมุ่งหมายในการลดต้นทุนการก่อสร้างในภาพรวม ย่นระยะเวลาก่อสร้าง ใช้แรงงานน้อยลง โครงสร้างมีความทนทานสูง ต้องการ การบำรุงดูแลรักษาน้อยลง

รวมถึงช่วยลดปริมาณคาร์บอนในการก่อสร้างเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยสู่ความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) ตลอดปีที่ผ่านมาทาง CPAC มีการนำเสนอและให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี UHPC กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนราชการและเอกชนให้ทราบถึงความเป็นมาและประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าว

โดยทางบริษัทยังร่วมกับสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศหลายแห่งจัดทำคู่มือเกี่ยวกับมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างด้วยเทคโนโลยี UHPC เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง และผลักดันการพัฒนาวงการก่อสร้างของประเทศไทยให้ทัดเทียมในระดับสากล

สำหรับผู้ที่สนใจปรึกษานวัตกรรม CPAC Ultra Bridge Solution สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-555-5555

Back to top button