CPF นำ “บล็อกเชน” ยกระดับตรวจสอบสินค้า ส่งมอบอาหารปลอดภัย
CPF โชว์ผลสำเร็จนำ "Blockchain" ตรวจสอบย้อนกลับสินค้า สร้างความเชื่อมั่น ส่งมอบอาหารปลอดภัย ปักธงปีนี้ขยายผลต่อเนื่องในผลิตภัณฑ์กุ้ง
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เดินหน้านำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร โชว์ผลสำเร็จนำร่องในกลุ่มไก่สดและหมูสด ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้บริโภค ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร วางเป้าหมายปี 2566 ขยายผลต่อเนื่องในผลิตภัณฑ์กุ้ง
นางสาวอรพรรณ มั่งมีศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสู่ผู้บริโภค นำระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าที่สอดคล้องตามหลักการที่กำหนดโดยองค์กรมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) และมาตรฐานไอเอสโอ (ISO) มาใช้ เพื่อความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สามารถสอบกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ โรงงานที่ผลิตสินค้า กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน โดยริเริ่มนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับในรูปแบบดิจิทัล (CPF Digital Traceability) มาใช้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
โดยในปี 2565 ซีพีเอฟ ร่วมกับ AXONS ผู้นำด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศเกษตรเทคโนโลยี (Agri-Tech) ยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับ ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Traceability) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับด้านความถูกต้องของข้อมูลอย่างกว้างขวางในหลายธุรกิจ เช่น การเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง และซัพพลายเชน ฯลฯ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้บริโภคให้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และรวดเร็ว มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟทุกรายการ ซึ่งเริ่มในผลิตภัณฑ์กลุ่มไก่สดและหมูสด และในปี 2566 ซีพีเอฟมีแผนขยายผลสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งสด และผลิตภัณฑ์ปรุงสุก โดยจะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ในระยะต่อไป
“เรานำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคทราบแหล่งที่มาของสินค้าแล้ว ยังสามารถทราบข้อมูลการได้รับรองมาตรฐานสากลด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร รวมถึงข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์ยั่งยืน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งมอบคุณค่าผลิตภัณฑ์ที่ดีอย่างสม่ำเสมอ” นางสาวอรพรรณ กล่าว
นอกจากนี้ซีพีเอฟได้ใช้ระบบ Blockchain Traceability เพื่อบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร ระบบขนส่งและคลังสินค้า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค มั่นใจในคุณภาพและปลอดภัยอาหาร รวมถึงการใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า มุ่งสู่การมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารตามเป้าหมายโลก