“นอร์ทอีส รับเบอร์” ชูยุทธศาสตร์ ESG สานต่อโครงการ “NER ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้”
NER ชูแกนหลักยุทธศาสตร์แนวคิดพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ESG เดินหน้าแผนงานความรับผิดชอบต่อสังคม สานต่อโครงการ "NER ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้" เร่งแก้ไขปัญหาขาดสื่อการเรียนการสอนในห้องสมุดในโรงเรียนพื้นที่ชนบท
บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าวถึงพันธกิจมุ่งคืนประโยชน์สู่สังคมผ่าน 1 ใน 3 แกนหลักยุทธศาสตร์แนวคิดพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ESG (Environment, Social และ Governance) เดินหน้าแผนงานความรับผิดชอบต่อสังคม สานต่อโครงการ “NER ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้” เร่งแก้ไขปัญหาขาดสื่อการเรียนการสอนในห้องสมุดในโรงเรียนพื้นที่ชนบท
ด้านห้องสมุดโรงเรียน เป็นแหล่งการเรียนรู้ภายในโรงเรียนที่มีความสำคัญยิ่งต่อนักเรียนและครูผู้สอนในการเรียนรู้ศึกษาค้นคว้า แสวงหาคำตอบ และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงจัดทำโครงการนี้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ห้องสมุดของโรงเรียนมีหนังสือที่มีสาระประโยชน์ มีปริมาณที่เพียงพอ และเหมาะสมตรงกับความต้องการของผู้เรียนรู้ พร้อมส่งเสริมบรรยากาศการอ่านและการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางสาวเกศนรี จองโชติศิริกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาดและควบคุมคุณภาพ NER กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญกับโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ตามต่างจังหวัดขาดแคลนหนังสือ ส่งผลให้เด็กบางคนขาดทักษะการอ่านและมีความรู้ไม่ครอบคลุม เพื่อเร่งแก้ไขปัญหานี้ในโรงเรียนพื้นที่ชนบท และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บริษัทจึงตั้งเป้าหมายของโครงการ ดังนี้ 1. เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลการศึกษาหาความรู้ 2. เพื่อให้ห้องสมุดมีหนังสือที่มีสาระประโยชน์ และเหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน 3. เพื่อส่งเสริมการรักการอ่านและการเรียนรู้ให้มากขึ้น 4. เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาองค์ความรู้ให้กับนักเรียนและครูผู้สอน 5. เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างโรงเรียนและชุมชน
ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจมุ่งมั่นคืนประโยชน์สู่สังคม จึงเดินหน้าสานต่อโครงการปันน้ำใจ ห่วงใยโรงเรียน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ย้ำยุทธศาสตร์ด้านการจัดการคุณภาพชีวิต 1 ใน 3 แกนหลักยุทธศาสตร์แนวคิดพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ESG ด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility หรือ CSR) ในปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยบริษัทได้พัฒนาห้องสมุดไปแล้วจำนวน 9 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนทั้งหมดอยู่ภายในระยะรัศมีห่างจากโรงงานที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่เกิน 6 กิโลเมตร ดังนี้
สำหรับปี 2564 ได้แก่ 1.โรงเรียนบ้านบาตร 2.โรงเรียนบ้านโคกเพชร และ 3.โรงเรียนบ้านกระสัง และในปี 2565 ได้แก่ 1.โรงเรียนวัดบ้านตะโกตาพิ 2.โรงเรียนบ้านตลุงเก่า 3.โรงเรียนบ้านโคกย่าง 4.โรงเรียนวัดบ้านประทัดบุ 5.โรงเรียนบ้านโคกกลาง 6.โรงเรียนบ้านหนองม่วง
โดยใน 2566 บริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยคัดเลือกจาก 9 โรงเรียนที่ได้พัฒนาห้องสมุดไปแล้ว เลือกจากโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านสถานที่ ด้านการติดตั้งตัวรับสัญญาณอินเทอร์เน็ต และด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเชียวชาญในการให้คำปรึกษากับนักเรียนในการค้นคว้าหาความรู้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ได้มีโครงการดำเนินการด้านสุขอนามัยในโรงอาหารของโรงเรียน และมีโครงการที่จัดหาอุปกรณ์การศึกษาและอุปกรณ์กีฬา ให้เยาวชนได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย