PTT จับมือ “OR-TOYOTA-BIG” ต่อยอดพัฒนา “สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน”
PTT-OR-TOYOTA-BIG ร่วมต่อยอดพัฒนาสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Station) ให้พร้อมรองรับกลุ่มรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ต่อยอด “โครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระบบสาธิตการใช้ Hydrogen ในรถ FCEV” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง “PTT – OR – TOYOTA – BIG” ที่ได้เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
โดยได้เพิ่มขีดความสามารถ สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Station) ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในการเติม Hydrogen จากที่สามารถเติมให้กับรถยนต์ Toyota Mirai ซึ่งมีความจุ Hydrogen ที่ 5.6 กิโลกรัม เพิ่มเป็นความจุสูงสุดที่ 50 กิโลกรัม เพื่อขยายผลการใช้งานในรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งยังส่งผลให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิงอีกด้วย ซึ่งไฮโดรเจนจากบีไอจีเป็นพลังงานสะอาดและมาจากเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีการทดสอบการเติมไฮโดรเจนให้กับรถบรรทุก รถหัวลาก และรถโดยสารพลังงานไฮโดรเจน นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำรถกลุ่มนี้เข้ามาทดสอบการใช้งานในประเทศไทย โดยกิจกรรมทดสอบการใช้งานรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทภาคียานยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำ
ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส จำกัด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส จำกัด ในนาม Commercial Japan Partnership Technologies (CJPT) ที่มีเป้าหมายในการขยายพันธมิตรภายในภูมิภาคเอเชีย เพื่อขยายผลการดำเนินงานด้านการจัดการพลังงานทางเลือก (Energy Solution) และด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solution) จึงได้นำเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแนะนำยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดหลากหลายรูปแบบให้ทุกภาคส่วนได้ทดลองใช้งาน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ต่อไป