“ไทยพาณิชย์” ครองแชมป์ “ธนาคารแห่งปี 66”

“ไทยพาณิชย์” ครองแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2566  Bank of the Year 2023


วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2566 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2566 Bank of the Year 2023 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง ในรอบปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2565 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2566

โดยในปี 2565 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 53,626.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,231.32 ล้านบาท 51.51% และมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 15.95 บาท สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจที่ดีขึ้นจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และกำไรจากการขายบริษัทย่อยและการโอนธุรกิจตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม SCBX การตั้งสำรองที่ลดลง และการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ

ธนาคารไทยพาณิชย์ มีความมุ่งมั่นสู่การเป็น “ธนาคารที่ดีขึ้น” (To Be A Better Bank) อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดพันธกิจในการเป็น “ดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง” และยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของพอร์ตสินเชื่อเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน ซึ่งได้วางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่ออย่างค่อยเป็นค่อยไปและการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง และให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจผันผวน พร้อมด้วยการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับนโยบายความยั่งยืนทั้งการให้บริการลูกค้า และการบริหารงานภายใน

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้มุ่งดำเนินการและวางแนวทางการดำเนินธุรกิจในการปรับเปลี่ยนจากการเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจรสู่การให้บริการแบบมุ่งเน้นในธุรกิจที่คัดสรรแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ซึ่งเน้นการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลและการเป็นธนาคารดิจิทัล โดยไม่มุ่งเน้นการเติบโตของขนาดสินทรัพย์ แต่เป็นการเติบโตของธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยพิจารณาความสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้กำหนดแผนธุรกิจปี 2566 เพื่อเป็นธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1.ปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการดำเนินงาน โดยใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัล ขยายการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างจุดให้บริการลูกค้า  ทั้งในช่องทางดิจิทัลและทุกช่องทางให้บริการลูกค้า ขณะเดียวกัน มุ่งปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการให้บริการในวงกว้าง โดยธนาคารตั้งเป้าปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมีสัดส่วน 90% ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด

2.สร้างความเข้มแข็งให้กับบริการด้านการบริหารความมั่งคั่งแก่ลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อเสนอบริการด้านการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร โดยใช้กลยุทธ์สามมิติ ได้แก่

ประการแรก เสนอบริการแบบองค์รวมที่ออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าทั้งในด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ

ประการที่สอง พัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ปรึกษาด้านการเงิน โดยยกระดับทักษะของผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า และขยายศักยภาพของการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลในการให้คำปรึกษา

ประการสุดท้าย การมีพันธมิตรที่หลากหลายจะสนับสนุนให้ธนาคารสามารถให้บริการด้านการบริหารความมั่งคั่งอย่างครอบคลุมและครบถ้วน

3.สร้างสมดุลของพอร์ตการให้สินเชื่อ และการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง โดยเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ดีภายใต้การควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม และการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินการอย่างเหมาะสมและมีวินัย โดยธนาคารตั้งเป้าที่จะรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ไม่เกิน 40% รวมทั้งให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

4.ให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืน โดยธนาคารมีเป้าหมายในการมีบทบาทผู้นำด้านความยั่งยืน สนับสนุนการปรับตัวไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emission) ของกลุ่มลูกค้าผ่านการให้สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และโซลูชั่นทางการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการยกระดับการดำเนินงานด้านต่างๆ ของธนาคารให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ระดับสากล โดยกำหนดเป้าหมายผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green Financing) เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาทในช่วงปี 2566-2568

Back to top button