SCGP ลุยพัฒนา “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” ชวนพันธมิตรไทย-ตปท. มุ่งเป้า Net Zero ปี 93

SCGP มุ่งสร้างความร่วมมือและส่งเสริมการพัฒนา “บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน” ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ชวนพันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 40 บริษัท ร่วมยกระดับบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นตลอดทั้งกระบวนการ


นายกรัณย์ เตชะเสน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูง บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยครอบคลุมทั้งกระบวนการออกแบบสินค้าและบริการ รวมถึงกระบวนการผลิต โดยเน้นการออกแบบและผลิตเพื่อให้เจ้าของสินค้า (Brand Owner) รวมถึงผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย ใช้งานได้ง่าย ใช้ทรัพยากรในปริมาณน้อย แต่ยังคงได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ พร้อมผนึกความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการส่งเสริมแนวทางที่ยั่งยืนไปสู่ผู้บริโภค เพื่อสร้างสรรค์โลกที่สะอาดและยั่งยืน

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ SCGP จึงได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “SCGP Circularity in Action : Pursuit of Packaging Sustainability” เพื่อแสดงความขอบคุณพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นตลอดทั้งกระบวนการผลิตจนถึงการส่งมอบถึงมือผู้บริโภค พร้อมกับการขยายการรับรู้และส่งเสริมแนวทางการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการแชร์ประสบการณ์ โดยได้เชิญ 3 พันธมิตรชั้นนำที่ SCGP เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน มาร่วมแบ่งปันแนวคิดในครั้งนี้

นายกฤตวิทย์ เลาหธนาพร กรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม. วอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่ม “สปริงเกิล” กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับ SCGP ในการออกแบบและพัฒนาขวดน้ำดื่ม “สปริงเคิล” แบบใหม่ที่รีไซเคิลได้ง่ายและไม่มีฉลากเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมวางตลาดในเดือนตุลาคมนี้ โดยบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงและแนวคิดการออกแบบให้เหลือเฉพาะสิ่งที่จำเป็น จึงนำรูปทรงการละลายของธารน้ำแข็งขั้วโลกมาใช้ออกแบบขวดน้ำดื่มเพื่อสร้างความแตกต่าง

นอกจากนี้ได้ลดการใช้ฉลาก โดยนำเทคโนโลยีพิมพ์ข้อความแบบอิงก์เจ็ตลงบนพื้นผิวขวดน้ำดื่มที่มาจากองค์ความรู้และพัฒนาขึ้นเองด้วยระยะเวลาเกือบ 2 ปี สามารถล้างหมึกพิมพ์ด้วยกระบวนการรีไซเคิลทั่วไปได้และไม่มีสารอันตรายปนเปื้อนในน้ำ เป็นการลดพลาสติกลงไปอีกชิ้นจากการไม่มีฉลาก และทำให้ขวดน้ำนี้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายที่สุด

นางสาวศิริลักษณ์ ณรงค์ตะณุพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิเควเตอร์ เพียวเนเจอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติแบรนด์ “PiPPER STANDARD” (พิพเพอร์ สแตนดาร์ด) กล่าวว่า ได้ร่วมกับ SCGP เพื่อพัฒนาแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของบริษัทฯ ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% รวมถึงได้ร่วมกันจัดโครงการ “ข.ขวด พิพเพอร์ มารีไซเคิล” ในการนำขวดพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้ว มาคัดแยกประเภท ผ่านกระบวนการทำความสะอาด ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติก Post-Consumer Recycled Resin (PCR) ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นขวดใหม่ นับเป็นการเดินตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างครบวงจร

นายสุพจน์ เกตุโตประการ รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวว่า “กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านวัสดุศาสตร์ เล็งเห็นว่าการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกชนิดเดียว หรือ Mono-material ซึ่งยังคงคุณสมบัติที่ดีของแพคเกจจิ้ง แต่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่าย เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมวงจรรีไซเคิล จึงได้มีการพัฒนาโซลูชันในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวคิดด้านความยั่งยืนที่ตรงกันกับ SCGP และได้มีความร่วมมือกันในหลายๆ โครงการ เช่น การพัฒนาถุงข้าวตราฉัตรให้รีไซเคิลได้ง่าย และยังบางลงแต่แข็งแรงขึ้น ตอบโจทย์ทั้งการลดขยะและลดคาร์บอน สอดคล้องกับเจตนารมย์ของ Dow ที่มุ่งมั่นจะช่วยให้ลูกค้าของเรามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้สำเร็จตามที่ตั้งใจ

“SCGP เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือจากพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ทั้งเทคโนโลยี การออกแบบ การทดลอง เพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต งานสัมมนาจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมพันธมิตรเพื่อร่วมกันหาโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการใช้งานที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง SCGP มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป (Rigid Packaging) หรือบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) และยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าร่วมมือกับ SCGP ในการทำให้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ SCGP เติบโตอย่างมีคุณภาพ ก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 และที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน” นายกรัณย์ กล่าว

Back to top button