“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” จับมือ CMDF ร่วมสัมมนา “Enable ESG Bond Issuance”
สมาคมตราสารหนี้ไทย จับมือ “CMDF” ร่วมสัมมนา “Enable ESG Bond Issuance” ระดมทุนออกหุ้นกู้กลุ่มความยั่งยืน โดยได้รับเครื่องหมาย Carbon Neutral Event ชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ได้ร่วมกันจัดสัมมนา “Enable ESG Bond Issuance # 2: Global Dynamic & Thailand Framework Development” ณ ห้องฉัตราบอลรูม โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้ทุนสนับสนุนการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้กลุ่มความยั่งยืน หรือ ESG bond (Green, Social, Sustainability bond and Sustainability-linked Bond)
โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ณ สถานที่จัดงานและผ่านออนไลน์รวมกว่า 300 ท่าน โดยงานในวันนี้ได้รับเครื่องหมาย Carbon Neutral Event ซึ่งเป็นการจัดงานอีเวนต์ที่มีการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิจนเป็นศูนย์อีกด้วย
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า มาตรการของประเทศต่างๆ ในการควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส เช่น การปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป และการชดเชยคาร์บอนจากสายการบินระหว่างประเทศ ในส่วนการเติบโตของการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ESG bond ในประเทศไทย มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าคงค้างกว่า 6.9 แสนล้านบาท ประกอบด้วยผู้ออกภาครัฐ 6 องค์กร และภาคเอกชน 25 บริษัท และภาครัฐยังได้ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ซึ่งนักลงทุนจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะเสนอขายต่อผู้ลงทุนได้ภายในต้นเดือนธันวาคมนี้
ด้าน นางสาวชิดชนก อันโนนจารย์ Associate Economics Officer, Asian Development Bank (ADB) เปิดเผยว่า การเติบโตของตลาดตราสารหนี้ ESG bond ในกลุ่มอาเซียน+3 (อาเซียนรวมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.4% ของตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก โดยภาคเอกชนเป็นหน่วยงานหลักในการออก ESG bond และ Green bond มีสัดส่วนการออกมากที่สุดที่ 51.7% คิดเป็นมูลค่ากว่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ทาง ADB ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนและส่งเสริมผู้ออกตราสารหนี้ทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนครอบคลุมตราสารหนี้ ESG bond ทุกประเภท และในอนาคตจะให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้าน Local verifier, Sustainability disclosures, Transition finance and Sustainability-linked loans
ขณะที่ นายสุชาย บูรณะวลาหก Senior Green Investment Officer, Global Green Growth Institute (GGGI) ให้ข้อมูลการดำเนินการขององค์กรในการมีส่วนช่วยสนับสนุนประเทศสมาชิกและหุ้นส่วนในการระดมทุนสีเขียว เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” (Nationally Determined Contributions : NDCs) และเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว โดยมุ่งสนับสนุนใน 3 ด้าน ได้แก่ Sustainable energy, Sustainable landscapes และ Green cities สำหรับประเทศไทยให้การสนับสนุนผ่านทางกรอบการวางแผนและพัฒนาของประเทศไทย 2565 – 2569 (Thailand Country Planning Framework : CPF) ซึ่งเน้นการส่งเสริม 3 ด้านคือ Waste management, Green building และ Green Industry ตัวอย่างโครงการที่ดำเนินการสนับสนุน ได้แก่ การจัดการขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste : MSW) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency : EE) และ Thailand Circular Economy Financing Facility (T-CEFF) เป็นต้น
ทั้งนี้ ดร.อรศรัณย์ มนุอมร Specialist Consultant, Climate Bonds Initiative (CBI) นำเสนอแนวทางการนำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Thailand Taxonomy) ไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับภาครัฐและภาคธนาคารในการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green finance) โดยปัจจุบันเฟสแรกจะครอบคลุมเฉพาะภาคขนส่งและพลังงานซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเกือบ 70% และส่งเสริมการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition finance) ของภาคธุรกิจไปสู่ธุรกิจสีเขียว ซึ่งในปัจจุบันตราสารหนี้/เงินกู้ ส่งเสริมความยั่งยืน Sustainability-Linked Bond และ Sustainability-linked loan (SLBs และ SLLs) ที่มีการเชื่อมโยงเป้าหมายความยั่งยืนในระดับองค์กรมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึง Transition bond ที่เติบโตมากในจีนและญี่ปุ่น
นอกจากนี้ นางสาวกรรณิการ์ ศรีธัญญลักษณา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, บริษัท เดอะ ครีเอจี จำกัด. กล่าวว่า มาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ EU Carbon Border Adjustment Mechanism (EU-CBAM) ที่จะส่งผลกระทบกับบริษัทที่มีการส่งออกสินค้าไปสู่ประเทศยุโรป ซึ่งในระยะแวลาปลี่ยนผ่านระหว่าง 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 ต้องมีการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะนำเข้าประเทศในแถบยุโรป และระยะเวลาเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป จะต้องมีการจ่ายค่า CBAM certification สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถควบคุมการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการต่างๆที่จะเกิดขึ้นและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกในอนาคต
ทั้งนี้ นางสาวพวงพันธ์ ศรีทอง ผู้จัดการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูลเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยโดยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2608 รวมทั้งเพิ่มเป้าหมาย NDC เป็นร้อยละ 40 โดยมีมาตรการสําคัญ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อยร้อยละ 68 ในปี 2583 ร้อยละ 74 ในปี 2593 , การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 69 ในปี 2578, ยุติการใช้ถ่านหิน ในปี 2593, การใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการใช้พลังงานไฮโดรเจนในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม อีกทั้งได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการส่งออก ในด้านการคำนวณ การรายงาน และทวนสอบค่า Embedded Emissions และค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์โดยใช้แพลตฟอร์มของ อบก.เป็นเครื่องมือ ที่ได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป, และศึกษาแนวทางในการลดค่า Embedded Emissions ของผลิตภัณฑ์ภายใต้ข้อกำหนดของมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป
โดยในช่วงการเสวนา “แบ่งปันประสบการณ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน” ผู้บริหารจากภาคเอกชนจำนวน 4 องค์กร ได้ร่วมแบ่งปันแนวทางในการดำเนินการด้านความยั่งยืน และการตัดสินใจในการริเริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนขององค์กร รวมถึงขั้นตอนการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนในทางปฎิบัติจริง จนถึงการออกและเสนอขายให้ประสบความสำเร็จ โดยได้รับเกียรติจาก นางมัณทนา เอื้อกิจขจร รองกรรมการผู้จัดการ งานวางแผนธุรกิจ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP, นายวสุ กลมเกลี้ยง Executive Vice President ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน /รักษาการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA , นายสมเกียรติ สุทธิวานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบัญชีและการเงิน บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และนายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHAร่วมแบ่งปันในช่วงเสวนาดังกล่าว
จากนั้น นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ได้กล่าวสรุปและอัพเดตถึง “โครงการให้ทุนสนับสนุนและส่งเสริมการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (ESG Bond Issuance Grant Scheme)” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ThaiBMA และ CMDF โดย CMDF จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบหรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เป็น ESG Bond (ไม่จำกัดสกุลเงิน) ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และระดมทุนขั้นต่ำ 100 ล้านบาทต่อรุ่น โดย CMDF จะให้ทุนสนับสนุนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อประเภทของ ESG Bond โดยมีวงเงินโครงการรวมทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ออก ESG bond ที่ได้รับทุนสนับสนุนแล้ว 4 องค์กร มูลค่าการออกตราสารหนี้รวม 21,366 ล้านบาท
ทั้งนี้ ESG bond ที่สามารถขอรับการสนับสนุนดังกล่าวจะต้องออกเสนอขายระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 โดยผู้สนใจสามารถติดต่อ ThaiBMA เพื่อขอข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม