“อายิโนะโมะโต๊ะ” จับมือพันธมิตร ร่วมผลักดันมูลค่า “ขี้เถ้าแกลบ” หวังลดปล่อยก๊าซคาร์บอน
“อายิโนะโมะโต๊ะ” จับมือพันธมิตร ร่วมวิจัยและพัฒนา “ไบโอโซเดียมซิลิเกต-ไบโอโพแทสเซียมซิลิเกต” มุ่งเพิ่มมูลค่าขี้เถ้าแกลบ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ตามหลักการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model
มร. โคะเฮ อิชิกาวะ กรรมการสมทบ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และนายศรียศ สุดเสริฐสิน กรรมการบริษัท อีสเทิร์นซิลิเกต จำกัด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันวิจัยและพัฒนา “การผลิตสารละลายไบโอโซเดียมซิลิเกตและไบโอโพแทสเซียมซิลิเกตอย่างยั่งยืนจากขี้เถ้าแกลบ” เพื่อร่วมกันผลักดันการเพิ่มมูลค่าขี้เถ้าแกลบจากอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตโซเดียมซิลิเกตจากขี้เถ้าแกลบเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน พร้อมร่วมกันผลักดันนโยบายและกฎระเบียบ End-of-waste ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มจากกากอุตสาหกรรมขี้เถ้าแกลบเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งพิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
โดย “แกลบ” จากภาคการเกษตรถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น จากกระบวนการนี้จะได้ขี้เถ้าแกลบจำนวนมากที่ประกอบด้วยซิลิกาไดออกไซด์ (SiO2) ประมาณร้อยละ 85-97 และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการในการผลิตแก้ว, ส่วนผสมในอิฐก่อสร้าง และปูนซีเมนต์ รวมถึงใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน จากปริมาณซิลิกาไดออกไซด์จำนวนมากในขี้เถ้าแกลบนี้เอง จึงเป็นที่น่าสนใจในการศึกษาพัฒนากระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อสกัดไบโอโซเดียมซิลิเกตและไบโอโพแทสเซียมซิลิเกต เพื่อทดแทนการผลิตโซเดียมซิลิเกตแต่เดิมที่มักจะสกัดจากทรายซึ่งต้องใช้พลังงานความร้อนสูง ส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากออกสู่ชั้นบรรยากาศและนำมาซึ่งภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการสกัดโซเดียมซิลิเกตจากขี้เถ้าแกลบนั้นสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มากถึงร้อยละ 70 นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับขี้เถ้าแกลบส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน รวมถึงโซเดียมซิลิเกตที่ผลิตได้นี้ยังสามารถนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ ครีมกันแดด ยาสีฟัน เครื่องสำอาง และสารเติมแต่งต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย
รวมถึงนับเป็นการสอดรับกับ BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่ภาครัฐกำลังให้การสนับสนุนอยู่ในขณะนี้
สำหรับการร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยผลักดันสู่ธุรกิจการผลิตโซเดียมซิลิเกตเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากทรายในกระบวนการผลิตโซเดียมซิลิเกตในปัจจุบัน ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนอกจากนี้ผลลัพธ์ของโครงการจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายและกฎหมายที่สำคัญในอนาคต เพื่อปลดล็อคและนำไปสู่การสิ้นสุดการเป็นของเสีย (End-of-waste) ที่จะเป็นประโยชน์ในองค์รวมของอุตสาหกรรมไทย และถือเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญในการนำไปสู่การปลดล็อคกากอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ มีความมุ่งมั่นในการสร้างความอยู่ดีมีสุข หรือ Well-being ผ่านการดำเนินการส่งเสริม “คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน” ควบคู่ไปกับการลด “ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” ในทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ภายใต้ปณิธาณ “การสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม” หรือ “The Ajinomoto Group Creating Shared Value: ASV” อย่างยั่งยืนของบริษัทฯ