OR เปิดจุดรับเมล็ดพันธุ์ “กะลาอะราบิกา” จ.เชียงใหม่ มุ่งสร้างอนาคตยั่งยืน
OR เปิดจุดรับเมล็ดกาแฟ “กะลาอะราบิกา” จากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโดยตรง ณ โรงแปรรูปเมล็ดกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ พร้อมกางแผนเปิดโครงการอุทยานคาเฟ่ อเมซอน จ.ลำปาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่แบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน”
นายพงษ์ศักดิ์ ภัทรเมธีวิญญู ผู้อำนวยการโครงการบริหารห่วงโซ่อุปทานเมล็ดกาแฟดิบ และนายพงษ์พันธ์ จันทรภูมิ ผู้จัดการส่วนบริหารห่วงโซ่อุปทานเมล็ดกาแฟดิบ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ร่วมเปิดตัวจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกา จากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโดยตรงในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งแปรรูปกาแฟกะลาเป็นกาแฟสาร ก่อนที่จะจัดส่งกาแฟสารให้โรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน เพื่อคั่วและจำหน่ายไปยังร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ทั่วประเทศ พร้อมเปิดเผยถึงแผนการดำเนินโครงการอุทยาน คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) ที่ จ.ลำปาง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของคาเฟ่ อเมซอน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และเป็นการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ณ จ.ลำปาง
นายพงษ์พันธ์ กล่าวว่า OR ในฐานะผู้บริหารแบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเกษตรกรไทยผู้ปลูกกาแฟและได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดตั้งจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโดยตรงในพื้นที่ภาคเหนือ คาดการณ์ว่าจะเริ่มเปิดรับซื้อผลผลิตเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกา ในวันที่ 1 มี.ค. 67 โดยรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรมและสอดคล้องตามราคากลไกทางการตลาด พร้อมทั้งแปรรูปกาแฟกะลาเป็นกาแฟสาร ก่อนที่จะจัดส่งกาแฟสารให้โรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุทธยา เพื่อคั่วและจำหน่ายไปยังร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ทั่วประเทศ
อีกทั้งยังเป็นศูนย์พัฒนาทักษะความรู้ในการปลูก ผลิต และแปรรูปกาแฟให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานเพื่อให้เกษตรกรไทยปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนอีกด้วย สำหรับการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาจะรับซื้อจากเกษตรกรไทย (รายย่อย) ที่ได้รับเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เป็นสมาชิกของมูลนิธิโครงการหลวง เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการลงทะเบียนและการขายกาแฟกะลาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 097-918-5356
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานในการส่งเสริมการปลูกและรับซื้อกาแฟจากเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับมูลนิธีโครงการหลวง พัฒนา “โครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวเขากว่า 800 รายในพื้นที่ดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงประมาณ 24 แห่ง ใน จ.เชียงใหม่, เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน ให้มีช่องทางการจาหน่ายเมล็ดกาแฟที่มั่นคง มีตลาดที่แน่นอน โครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชน (CCS : Community Coffee Sourcing) เพื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่แน่นอน มีรายได้จากการซื้อขายในระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายโครงการ โดยตั้งแต่ปี 2558-2566 บริษัทโดย “คาเฟ่ อเมซอน” ได้สนับสนุนเกษตรกรด้วยการเป็นตลาดรับซื้อกาแฟสารจากเกษตรกรไทยรวมแล้วกว่า 6,109 ตัน (6,109,000 กิโลกรัม) หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,100 ล้านบาท
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า OR มีแนวคิดในการพัฒนาอุทยานคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ณ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คาเฟ่ อเมซอน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) ของคาเฟ่ อเมซอนให้ยั่งยืน โดยอุทยานคาเฟ่ อเมซอน จะเป็นทั้งแปลงเพาะปลูก ศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟสายพันธุ์ดีโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและแนวทางการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจต้นน้ำ
อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาชุมชนที่ จ.ลำปาง ให้มีแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร โดยภายในอุทยานคาเฟ่ อเมซอน จะประกอบไปด้วย โรงเพาะกล้า ไร่กาแฟสาธิต กระบวนการปลูก พัฒนาผลผลิต ขั้นตอนการเก็บกาแฟเชอรี่ กระบวนการการสีเปียกเพื่อแปรรูปเป็นกาแฟกะลา โรงตาก โรงอบ จนถึงกระบวนการสีแห้งให้กลายเป็นกาแฟสารที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด ก่อนจะส่งผลิตภัณฑ์กาแฟที่ได้ไปยังโรงคั่วกาแฟที่ ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์คาเฟ่ อเมซอน หรือ “โอเอซิส” (OASYS) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อไป
อนึ่งการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ถูกผนวกเข้าไปกับการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและเป้าหมายธุรกิจ และได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน “OR SDG” ทั้งในด้าน “S” หรือ “SMALL” การให้โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก ด้าน “D” หรือ “DIVERSIFIED” การสร้างโอกาสเพื่อทุกการเติบโตทุกรูปแบบ และด้าน “G” หรือ “GREEN” การสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของบริษัทในปี 2573
ตลอดจนสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมชุมชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ตามวิสัยทัศน์ “Empowering All Toward Inclusive Growth” เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกันอย่างแท้จริง