TU ปลื้ม JCR อัพเรตติ้ง “ตราสารหนี้ระยะยาว” สู่ระดับ A แนวโน้มมีเสถียรภาพ
TU ปลื้ม JCR เพิ่มอันดับน่าเชื่อถือ “ตราสารหนี้ระยะยาว” ในสกุลเงินต่างประเทศจาก A- สู่ระดับ A ชี้แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ หลังบริษัทมีศักยภาพการเติบโตกระจายอยู่ทั่วโลก
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก เปิดเผยว่า ได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศจาก A- ไปเป็น A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพจาก Japan Credit Rating หรือ JCR ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทมีศักยภาพในการเติบโตและมีธุรกิจอันหลากหลายอยู่ทั่วโลก
ทั้งนี้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศเป็นอันดับเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ได้รับจาก JCR พร้อมกันนี้ JCR ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินในประเทศของบริษัทไว้ที่ระดับ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพเช่นเดียวกัน
โดย JCR ระบุว่าสาเหตุที่ TU ได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือสูงขึ้นในครั้งนี้มาจากปัจจัยด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่กระจายอยู่ในตลาดหลักทั่วโลก อาทิ Chicken of the Sea ในสหรัฐอเมริกา, John West และ Petit Navire ในยุโรป ตลอดจนความมั่นคงในการสร้างผลกำไรอันเป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก ทั้งด้านการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ และการทำตลาด รวมถึงอีกหนึ่งปัจจัยคือการที่ TU ตัดสินใจถอนการลงทุนส่วนน้อยใน “เรด ล็อบสเตอร์” ช่วยลดความเสี่ยงในการรับภาระทางการเงิน
นอกจากนี้ JCR ยังให้ความเห็นว่าจุดแข็งของ TU คือการดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั่วโลกทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยมีฐานการผลิตอยู่ใน 14 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, เซเชลส์, โปแลนด์ และเวียดนาม ทำให้มีความได้เปรียบในการจัดหาวัตถุดิบจากทั่วทุกมุมโลก
“โดยท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายจากการลดระดับสินค้าคงคลัง และการปรับขึ้นอัตราเงินเฟ้อในหลายตลาดทั่วโลก แต่ TU ได้แสดงให้ทุกคนได้เห็นว่าการปรับตัวอย่างรวดเร็วสอดรับการเปลี่ยนแปลงจะทำให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งขอขอบคุณ และภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ JCR ได้มั่นใจและมีมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจของ TU” นายธีรพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ TU ยังมุ่งมั่นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวจากเป้าหมายปัจจุบันที่มุ่งสร้าง “การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans” โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้คนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ท้องทะเล ไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน
โดยจะเดินหน้าประกาศกลยุทธ์ระดับองค์กรตัวใหม่ (Corporate Strategy 2030) ที่จะครอบคลุมถึงปี 2573 เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมทะเลระดับโลก พร้อมสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยการขยายการลงทุนที่หลากหลายในอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นมากกว่าอาหารทะเลและเป็นผู้วางรากฐานของโภชนาการแห่งอนาคต อีกทั้งเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้คนสัตว์เลี้ยงควบคู่กับการดูแลโลกใบนี้
สุดท้ายนี้ในปี 2566 TU ได้จัดหาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan หรือ SLL) มูลค่า 11,485 ล้านบาท ถือเป็นการเริ่มระยะที่ 2 ของโครงการ “Blue Finance” หรือการบริหารจัดการการเงินเพื่อการทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลของ TU ซึ่งมีเป้าหมายจัดหาเงินทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ได้ 75% ของการจัดหาเงินทุนระยะยาวภายในปี 2568
อีกทั้งสินเชื่อ SLL จะออกให้ทั้งในสกุลเงินบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐระยะเวลา 3 และ 5 ปี ซึ่งความสำเร็จในการจัดหาเงินทุนครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญ ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของ TU ในด้านความยั่งยืน และนอกเหนือจากการเข้าถึงการเงินที่ยั่งยืนแล้ว โครงการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของท้องทะเลยังได้รับประโยชน์ด้วย