UBE ผนึก “สวทช.-เกษตรอุบล” จัดอบรม “ศดปช.” ส่งเสริมปลูกมันอินทรีย์
UBE ผนึก “สวทช.-เกษตรจังหวัดอุบลฯ” จัดกิจกรรมฝึกอบรมสมาชิก “ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน หัวใจการเพาะปลูกมันอินทรีย์ เริ่มต้นฤดูกาลปี 66/67
บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE นำโดย นางสาวกัณฑ์พร กรรณสูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายความยั่งยืนองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วยเครือข่ายนักส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย นายชวินทร์ ปลื้มเจริญ นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน เพื่อเป็นกลไกในการขยายผลงานวิจัยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์
โดยได้รับเกียรติจาก นายถิรพุทธิ์ คานทอง เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม พร้อมกิจกรรมตั้งโต๊ะตรวจดิน ด้วยเทคนิคการใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์ดินและแปรผล เพื่อส่งเสริมการปลูกมันอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน มุ่งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตแก่กลุ่มเกษตรกรมันอินทรีย์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมพระพิรุณ 1 และอาคารเกษตรตุ้มโฮม 2557 สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เป็นการผนึกกำลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่สำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์สู่เกษตรกร อาทิ ความรู้ในการเก็บตัวอย่างดิน การใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์ดิน และแปรผลของดินที่นำมาวิเคราะห์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย สมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานอารักขาพืช ในพื้นที่ 13 อำเภอ รวม 52 ราย
อนึ่ง ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรต้นแบบที่นำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินมาทดลองใช้ในแปลง จำนวน 36 แปลง จากการวัดผลพบว่า แปลงต้นแบบดังกล่าวมีผลผลิตเพิ่มขึ้น และดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยแปลงของเกษตรกรต้นแบบอำเภอตาลสุม จ.อุบลราชธานี ที่เป็นต้นแบบได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการเพาะปลูก และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน ในพื้นที่ 1 ไร่ มีน้ำหนักต่อต้นเฉลี่ยจากเดิม 2.2 กิโลกรัม/ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 3.84 กิโลกรัม/ต้น คิดเป็นร้อยละ 74.55 มีจำนวนหัวต่อต้นเฉลี่ยจากเดิม 13.2 หัว/ต้น เพิ่มขึ้นเป็น 15 หัว/ต้น คิดเป็นร้อยละ 13.64 ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยจากเดิม 4.6 ตัน/ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ตัน/ไร่ คิดเป็นร้อยละ56.52 และมีเปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 26 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27
“ในฐานะผู้รับซื้อมันสำปะหลังโดยตรงจากเกษตรกร การยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรมันสำปะหลัง จึงถือเป็นเจตนารมณ์ที่ UBE มุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการผ่านโครงการอุบลโมเดลพลัส ที่สามารถวางรากฐานที่แข็งแกร่ง และสร้างเกษตรกรต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานีได้ตามเป้าหมาย และพัฒนาต่อยอดสู่ “โครงการอีสานล่าง 2 โมเดลพลัสนวัตกรรม” ครอบคลุมพื้นที่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีสะเกษ” นางสาวกัณฑ์พร กล่าว
ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบ ควบคู่กับการถ่ายทอดความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ และการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการประกันราคามันสำปะหลังอินทรีย์ที่สูงกว่าราคามันสำปะหลังทั่วไป พร้อมส่งเสริมปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี ได้แก่ เครื่องกำจัดวัชพืช สารชีวภัณฑ์แช่ท่อนพันธุ์ PGPR3 เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบที่สามารถนำแนวคิด เทคโนโลยี นวัตกรรมขยายผลสู่เพื่อนเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังอินทรีย์ ที่สามารถนำวัตถุดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มีคุณค่า และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั่วโลก