“ธปท.” ผนึก 5 หน่วยงานเสริมความรู้ “การเงิน” ผ่านระบบศึกษา
“ธปท.” จับมือ 5 หน่วยงานลงนามในบันทึกทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางด้านการเงินผ่านระบบการศึกษา หวังเป็นพื้นฐานสำคัญให้คนไทยมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี และช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 เม.ย. 67) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษา ระหว่าง นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความรู้ทางการเงินเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน ผ่านการ
1.พัฒนากรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับภาคการศึกษา (Financial Competency Framework for Educational Purpose) เพื่อเป็นแนวทางกำหนดการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมแก่นักเรียนแต่ละระดับชั้นการศึกษา
2.กำหนดเนื้อหาความรู้ทางการเงินที่จำเป็นและสำคัญ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร เครื่องมือ และสื่อการสอนต่างๆ
3.ผลักดันให้เกิดเครือข่ายครูแกนนำที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับและส่งต่อความรู้ทางการเงินภายในสถานศึกษาได้ในวงกว้างและยั่งยืน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและเครือข่ายสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้
ทั้งนี้การประสานความร่วมมือของ 6 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในภาคการศึกษาที่จะปลูกฝังให้เยาวชนสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญของเยาวชน ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต การมีความรู้ ทักษะ และค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง ซึ่งครอบคลุมการมีเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสม มีเงินออมและประกันภัยเพื่อคุ้มครองตนเองเวลาฉุกเฉิน มีเงินและการลงทุนเพียงพอในการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในทุกช่วงวัยจนถึงวัยเกษียณ
รวมถึงมีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม เป็นหนี้เท่าที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสามารถชำระคืนได้ และมีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันจากภัยทางการเงินต่างๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (financial well-being) และช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป