TFEX จับมือ “กยท.” พัฒนาราคาอ้างอิงยางพารา

TFEX จับมือการยางแห่งประเทศไทย ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาราคาอ้างอิงยางพารา เพื่อใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมซื้อขายทั้งในและต่างประเทศ และใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มั่นใจ กระบวนการคำนวณราคา เป็นมาตรฐาน โปร่งใส พร้อมหนุนยาง EUDR ของไทย


นางสาวรินใจ ชาครพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX เปิดเผยว่า TFEX ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาราคาอ้างอิงยางพาราร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยมีราคาอ้างอิงในการซื้อขายยางพารา (Rubber Reference Price) ที่เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งอุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

“TFEX และการยางแห่งประเทศไทย มีความมุ่งหวังให้ราคาอ้างอิงที่พัฒนาขึ้นมานี้เป็นที่ยอมรับและถูกใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมซื้อขายทั้งในและต่างประเทศ โดย TFEX เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ราคาอ้างอิง ซึ่งในการดำเนินการได้มีการกำหนดวิธีการไว้เป็นมาตรฐานและเผยแพร่ให้ทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อราคาอ้างอิงว่ามีความโปร่งใส  ในอนาคต TFEX และการยางแห่งประเทศไทยจะหารือผู้ประกอบการเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาราคายางที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (European Union Deforestation Free Regulation หรือ EUDR) เพิ่มเติม รวมทั้ง TFEX จะศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ราคาอ้างอิงดังกล่าวเพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Rubber Futures เพิ่มเติม” นางสาวรินใจ กล่าว

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก แต่ที่ผ่านมาการอ้างอิงราคายางเพื่อทำสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศยังคงอ้างอิงราคาจากตลาดยางต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น การที่ไทยสามารถพัฒนาสูตรการคำนวณเพื่อกำหนดราคาอ้างอิงได้เองจะช่วยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกรและผู้ผลิตยางพาราไทยได้ กยท. ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของไทยทั้งระบบ ตลอดจนการซื้อขายยางพาราในประเทศและการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราสู่ต่างประเทศ จึงผสานความร่วมมือกับ TFEX ร่วมกันพัฒนาการคำนวณราคาอ้างอิง เพื่อใช้ในการซื้อขายยางของไทยที่มีความโปร่งใสและเป็นมาตรฐานสากล พร้อมเผยแพร่ราคาดังกล่าวสู่สาธารณะ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นฐานในการกำหนดราคาทำสัญญาซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ (ราคา FOB) ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางพารา

ทั้งนี้ กยท. มีทำหน้าที่รวบรวมและส่งมอบข้อมูลปริมาณการซื้อขาย ข้อมูลฐานของผลิตภัณฑ์ยางพาราชนิดต่างๆ และข้อมูลจำเป็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดกลางยางพาราแต่ละจังหวัด ของ กยท. ให้กับ TFEX และร่วมมือกับ TFEX ในการพัฒนาการกำหนดสูตรคำนวณราคาอ้างอิงและร่วมกันเผยแพร่ราคาต่อไป

“เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นำไปสู่การยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงในอาชีพต่อไปได้”  นายณกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ TFEX และ กยท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาการคำนวณราคายาง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 โดยจะคำนวณและเผยแพร่ราคาอ้างอิง (Rubber Reference Price)  ได้แก่ ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เผยแพร่เวลา 12:00 น. และราคาน้ำยางข้นและยางแท่ง เผยแพร่เวลา 19:00 น.  ทั้งนี้ มีกำหนดเริ่มเผยแพร่ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในเดือนกรกฎาคม 2567 และราคาน้ำยางข้นและยางแท่งในเดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ TFEX www.TFEX.co.th และเว็บไซต์ กยท. www.raot.co.th

Back to top button