CPF จับมือ “กรมประมง” ระดมล่า “ปลาหมอคางดำ” ต่อเนื่อง
CPF เร่งเครื่อง 5 โครงการกำจัดปลาหมอคางดำ จับมือ “กรมประมง” จัดลงแขกลงคลองต่อเนื่อง พร้อมมอบถังพลาสติกใช้แล้วหนุนการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในฉะเชิงเทราพบปลาคางดำค่อนข้างมากใน อำเภอบางคล้า และอำเภอบางปะกง เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จังหวัดจึงจัดลงแขก-ลงคลองครั้งที่ 1 นำร่องจับปลาหมอคางดำในบริเวณคลองบางกระพ้อ โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ชาวแปดริ้ว และตัวแทนภาคเอกชน ร่วมกันจับปลาออกจากระบบนิเวศได้ 80 กิโลกรัม สำหรับปลาที่จับได้ในวันนี้ จังหวัดจะส่งมอบให้เรือนจำกลางนำไปใช้ปรุงอาหารเลี้ยงผู้ต้องขังต่อไป ทั้งนี้ ฉะเชิงเทราและประมงจังหวัดพร้อมเดินหน้าเร่งจับปลาทุกสัปดาห์เพื่อให้ปลาหมดไปภายใน 3 เดือนตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า ซีพีเอฟผนึกพลังในองค์กรร่วมสนับสนุนกรมประมงในการกำจัดปลาหมอคางดำมาแล้ว 6 จังหวัด และวันนี้มอบแห อวน อุปกรณ์จับปลาให้ประมงฉะเชิงเทราใช้ในการจัดกิจกรรมจับปลา
พร้อมทั้งสนับสนุนอาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ร่วมงานลงแขก-ลงคลอง นอกจากนี้ ซีพีเอฟได้รับการประสานงานว่าโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพขาดแคลนถังบรรจุ บริษัทจึงได้ต่อยอดนำถังพลาสติกที่ใช้แล้วขนาดบรรจุ 1,000 ลิตรจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ซีพีเอฟ จำนวน 200 ใบมอบให้สถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัดต่างๆ ใช้ผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อส่งให้การยางฯ ต่อไป
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้สนับสนุนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้กรมพัฒนาที่ดิน การยางแห่งประเทศไทย และกรมประมงร่วมมือกันนำปลาหมอคางดำที่จับได้มาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อส่งต่อให้ชาวสวนยางพารา โดยสนับสนุนถังพลาสติกใช้แล้วจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ซีพีเอฟขนาด 1,000 ลิตรจำนวน 200 ใบให้แก่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นถังบรรจุน้ำหมักชีวภาพ
โดยได้ส่งมอบถังพลาสติก 40 ใบแก่สถานีพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา และสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการ และจะทยอยจัดส่งถังพลาสติกใช้แล้วไปให้สถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี สำนักงานการยางจังหวัดกาญจนบุรี และที่อื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ การสนับสนุนกิจกรรมจับปลาหมอคางดำ และโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อแจกให้เกษตรกรปลูกยางพารา เป็นความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการสนับสนุนกรมประมงเพื่อช่วยกำจัดปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง โดยดำเนิน 5 โครงการ ประกอบด้วย การรับซื้อปลาหมอคางดำผลิตปลาป่นที่รับซื้อไปแล้วมากกว่า 600,000 กิโลกรัมโดยตั้งเป้ารับซื้อ 2,000,000 กิโลกรัม การสนับสนุนปลานักล่า 200,000 ตัว ให้ประมงจังหวัดต่างๆ ปล่อยลงแหล่งน้ำ โดยส่งมอบไปแล้ว 54,000 ตัว การสนับสนุนกรมประมงจับปลาออกจากระบบนิเวศ โครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการควบคุมปลาในระยะยาว