กสทช. จับมือ “สกมช.” เปิดศูนย์ USO NET ชุมพร เสริมความรู้ประชาชนเท่าทันภัยไซเบอร์
สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สกมช. เปิดศูนย์ USO NET จ.ชุมพร ให้ความรู้ประชาชน-นักเรียนในพื้นที่ รู้เท่าทันภัยไซเบอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 ก.ย.67) ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. พร้อมด้วยพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (เลขาธิการ สกมช.) ลงพื้นที่จัดกิจกรรม “รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันภัยไซเบอร์” ให้ความรู้ประชาชน และนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ณ ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Net) โรงเรียนบ้านในเหมือง จ.ชุมพร พร้อมทั้งถ่ายทอดการจัดกิจกรรมออกไปยังศูนย์ USO Net จำนวน 278 แห่ง มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กว่า 5,500 คน
โดย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกับ สกมช.ใช้ศูนย์ USO NET เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้าใจง่าย ผ่านแพลตฟอร์ม“NCSA MOOC” เน้นการเรียนรู้ในรูปแบบทฤษฎีและปฏิบัติ จำลองตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุดให้แก่ เด็กนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 8 ครั้ง โดยในครั้งนี้จัดที่ศูนย์ USO Net โรงเรียนบ้านในเหมือง จ.ชุมพร เพื่อเป็นการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์สู่ภาคใต้รวมถึงผลักดันเป้าหมายที่จะเสริมภูมิคุ้มกันคนไทยทั่วทุกภูมิภาคให้ได้ใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์อย่างมีความสุขและปลอดภัย
สำหรับกิจกรรม “รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันภัยไซเบอร์” จัดขึ้นภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ ระหว่าง สำนักงาน กสทช. และ สกมช. ได้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างความรู้และความตระหนักรู้ ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้เปราะบาง และประชาชนในพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งเป็นการให้ความรู้เพื่อยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ผ่านแพลตฟอร์ม NCSA MOOC ของ สกมช. ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Practical Training Platform)
“ทุกวันนี้อุปกรณ์สื่อสารเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวัน ผมเชื่อว่าทุกบ้านต้องมีโทรศัพท์มือถือ และหลายบ้านเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การสำรวจข้อมูลการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจผู้ใช้งานตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งเท่ากับว่าเด็กยุคนี้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้เร็วขึ้น หรืออาจมีทักษะเรื่องนี้ดีไม่แพ้ผู้ใหญ่ การให้ความรู้แก่เด็กเรื่องภัยไซเบอร์ เพื่อเอาไปบอกต่อพ่อแม่ คนสูงอายุที่บ้าน เป็นการสื่อสารทางอ้อมที่นอกจากให้ตัวเขาเองมีเกราะป้องกันภัย เขายังเอาเกราะป้องกันภัยไปสวมให้คนในบ้านได้อีกด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. พยายามจัดการอบรมแบบนี้กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง” ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ กล่าวทิ้งท้าย