สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ประชุมใหญ่สามัญปี 66-67 รับมือสื่อยุค AI

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 66-67 โดยมีผู้แทนสมาชิกสมาคมเข้าร่วมประชุม 38 องค์กร เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ สมัยที่ 13 พร้อมทำโครงการเพื่อสังคมและรับมือในการเป็นสื่อออนไลน์ยุค AI 


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (16 ธ.ค.67) สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 67 ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีผู้แทนสมาชิกสมาคมเข้าร่วมประชุม 38 องค์กร เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ สมัยที่ 13 (ปี 67) รายงานสถานะการเงินประจำปี 66-67, แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย  ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ สมัยที่ 13 มีรายละเอียดโครงการประกอบด้วย

  1. กิจกรรมสัมมนา “กระชับสัมพันธ์ SONP” ระดมสมองทิศทางการดำเนินงานปี 67 ณ เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ
  2. กิจกรรม One Day Training ครั้งที่ 1: หัวข้อ “Digital Journalism in the context of Influencer Economy Business Model & Monetization”, ครั้งที่ 2: หัวข้อ “ความสำคัญของ MarTech กับอุตสาหกรรมสื่อดิจิทัล ในยุค Digital Era” ส่วนครั้งที่ 3 หัวข้อ “Navigating Change: Strategies for Survival of Online News Providers in the Evolving Media Landscape” และครั้งที่ 4 หัวข้อ: Cyber Security & กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  3. โครงการอบรมเชิงปฎิบัติการผู้ผลิตข่าวรุ่นเยาว์ ประจำปี 67 รุ่นที่ 8 (Young Digital News Providers 2024) ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
  4. โครงการประกวด รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 67 (Digital News Excellence Awards 2024) ณ ห้องมรกต โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ต่อยอดจากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวรุ่นเยาว์ เปิดเวทีให้นิสิต นักศึกษา ผู้เข้าอบรมในโครงการฯ ส่งผลงานเข้าประกวด ในประเภท “รางวัลผู้ผลิตข่าวรุ่นเยาว์” เพื่อเตรียมความพร้อมกับการก้าวเข้ามาทำงานในวงการข่าวดิจิทัลอย่างมืออาชีพ

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเข้าร่วมกับพันธมิตรด้านสื่อสารมวลชน จัดทำโครงการเพื่อสังคม และพันธมิตรสื่อต่างประเทศ อาทิ (1) ร่วมเวที Media Forum กฎบัตรปารีสเรื่องจริธรรมสื่อในยุค AI และ บริบทของไทย จัดโดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (2) ร่วมเป็นกรรมการ (ร่าง) แนวปฏิบัติ เรื่อง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับสื่อมวลชน โดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติพร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (3) ร่วมประชุมความร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อของไทยและกัมพูชา (4) พบปะหารือกับทีมโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และ (5) เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ: Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์

นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมฯ กล่าวขอบคุณคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ สมาชิกสมาคมฯ ทุกองค์กรที่ร่วมกันขับเคลื่อน และผลักดันวิชาชีพด้านสื่อออนไลน์ จากความท้าทายด้านเทคโนโลยี สมาคมฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากปัจจุบันได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงต้องมีผู้ดูแลบริหารจัดการงานสมาคมฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ อุปนายกดูแลเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านมาตรฐานวิชาชีพ ด้านพัฒนาธุรกิจ และด้านวิชาการ รวมถึงมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการบริหารสมาคมฯอีกด้วย

สำหรับการดำเนินงานของสมาคมฯ ในปี 67 นั้น นโยบายหลักของสมาคมฯ คือ การพัฒนาให้ความรู้กับบุคลากรของสมาชิก โดยในปีนี้ได้มีความร่วมมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ หรือองค์กรเอกชน รวมถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ความรู้กับสมาชิกฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงการสร้างสรรค์ผลิตคอนเทนต์ อาทิ การอบรม One Day Training ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จัดทำโครงการเพื่อประโยชน์ต่อสังคม อย่างเช่น โครงการ Cyber Booster #สร้างภูมิสู้ภัยไซเบอร์ สร้างความปลอดภัย เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยเหลือประชาชนให้รู้ทันภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพออนไลน์

เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ โดยร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  รายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  และ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการฯ ต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป ส่วนการหารายได้ยังมีการหารือร่วมกับทาง Google พร้อมทั้งเน้นย้ำอุปนายกด้านพัฒนาธุรกิจ ระดมกรรมการตั้ง Core Team เพื่อหาแนวทางการสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับสมาชิก

“ขอชื่นชมโครงการประกวด “รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม” ครั้งที่ 10 มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากขึ้น รวมถึงสมาชิกสมาคมฯ ที่ส่งผลงานเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอที่ชวนติดตามตั้งแต่วินาทีแรกจนจบคลิป แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาด้านการสร้างสรรค์ของหลายสื่อสมาชิก และมียอดการรับชมที่สูง แต่ไม่ได้ลดคุณภาพของเนื้อหาการทำหน้าที่สื่อ และสุดท้ายขอขอบคุณสมาชิกทุกองค์กรที่ให้ความช่วยเหลืองานกิจกรรมสมาคมฯ มาตลอดทั้งปี” นายนันทสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

หลังจากนั้น ในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ที่ปรึกษา และ สมาชิกสมาคมฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งหารือให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในปีต่อไป

นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษา สมาคมฯ กล่าวชื่นชมการทำงานของนายกฯ และคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในปีหน้าจะเป็นปีที่แนวโน้มเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่กระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อ ทางสมาคมฯ ควรมีการวางทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรด้านสื่อที่อาจจะตกงานเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ จึงขอฝากสมาคมฯ เรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งองค์กร และบุคลากร

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษา สมาคมฯ กล่าวเสนอ ให้จัดทำหลักสูตรระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือบุคลากรในวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างธุรกิจสื่อ และหรือบุคคลที่ต้องการทำสำนักข่าวออนไลน์ เนื้อหาหลักสูตรต้องครบกระบวนการผลิตข่าวออนไลน์ ที่รวมถึงเรื่องการตลาด แนวทางการสร้างรายได้ แนะนำแหล่งเงินทุน รวมทั้งเรื่องของกฎหมาย จริยธรรมเข้าไปด้วย ซึ่งสมาคมฯ มีศักยภาพในการบริหารจัดทำหลักสูตร

นางสาวชุตินธรา วัฒนกุล ที่ปรึกษา สมาคมฯ กล่าวว่า ขอแบ่งปันการเข้าร่วมสัมมนาที่ประเทศเยอรมัน เรื่อง “เสรีภาพสื่อ” ซึ่งพบว่าสื่อจากหลายประเทศ ไม่ค่อยมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ทั้งยังมีการพูดถึงเรื่อง AI และเรื่องการทำข่าวเชิงสืบสวนในยุคที่ AI เข้ามาคุกคาม โดยมองว่าทางรอดของสื่อต้องเน้นการทำข่าวเชิงสืบสวน สื่อต้องปรับตัว เนื่องจากในตลาดมีทั้ง Influencer รวมทั้ง User generated content ดังนั้นสื่อต้องทบทวนว่า คอนเทนต์ที่นำเสนอไปนั้นแตกต่างจากคนเหล่านี้หรือไม่ ทั้งเรื่องข่าวเชิงสืบสวนหรือ Solution journalism นอกจากเรื่องนี้ยังมีเรื่อง Fact checking และที่น่าสนใจคือเรื่อง การใช้วัฒนธรรม POP Culture ส่ง Message สื่อสารเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่

ปัจจุบันสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ https://www.sonp.or.th/ มีสมาชิกทั้งสิ้น 50 องค์กร ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรสื่อ และองค์กรที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการผลิตข่าวออนไลน์ โดยในปีนี้สมาคมฯ ได้เริ่มเปิดรับสมาชิกวิสามัญ ประเภท Corporate member หรือสมาชิกองค์กร อีกด้วย

Back to top button