
CPF เดินหน้าโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” หนุนเพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุน
CPF เดินหน้าโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” กว่า 20 ปี ส่งต่อน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกร-ไก่ไข่ หนุนเกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน สร้างความมั่นคงทางน้ำและการเกษตร
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ระบุถึง น้ำและปุ๋ย ถือเป็นปัจจัยการผลิตพืชที่สำคัญ และยังเป็นต้นทุนการผลิตหลักของเกษตรกร การลดภาระค่าใช้จ่ายไปพร้อมๆกับได้เพิ่มผลผลิตไปในคราวเดียว “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” เป็นโครงการที่ตอบโจทย์นี้ และยังเป็นอีกแนวทางการสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ เพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
สำหรับโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ที่ซีพีเอฟดำเนินการมานานกว่า 20 ปี ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตพืชไร่และพืชสวนดีขึ้น ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่าย จากการลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยซีพีเอฟนำน้ำปุ๋ยจากการบำบัดด้วยระบบ Biogas ในฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นน้ำที่ยังมีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับพืช เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” กลับมาใช้ประโยชน์ในฟาร์ม ทั้งรดต้นไม้ สนามหญ้า และแปลงผักปลอดภัยซึ่งพนักงานปลูกในพื้นที่ว่างของฟาร์มไว้เพื่อบริโภค และด้วยสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกๆปี น้ำปุ๋ยจากฟาร์ม จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรโดยรอบ
ขณะที่ นายสิงห์คำ อินทะ เกษตรกรรุ่นบุกเบิกที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรจอมทอง จ.เชียงใหม่ มาใช้กับไร่ข้าวโพดหวาน มานานกว่า 20 ปี เล่าว่า เริ่มแรกที่ขอใช้น้ำปุ๋ยเพราะต้องการลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี เมื่อใช้น้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนสูงเหมาะกับข้าวโพดหวาน ต้นโตไว ฝักใหญ่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น รายได้จึงเพิ่มตาม และยังลดค่าปุ๋ยได้ถึง 50-70% จากนั้นเกษตรกรรอบข้างก็ชวนกันมาใช้น้ำปุ๋ย ปัจจุบันใช้อยู่ 15 ราย ทั้งปลูกข้าวโพดหวานและผักสวนครัวโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ที่ผ่านมาไม่ต้องเสี่ยงกับภัยแล้ง มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี
ด้าน นายณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาเกษตรกร และประธานหมอดินจังหวัดจันทบุรี เล่าว่า รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรจันทบุรี 2 ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นระบบท่อลำเลียงน้ำที่เปิดใช้วันละ 2-4 ราย ให้เกษตรกร 20 ราย บนพื้นที่ 200 กว่าไร่ ใช้ในสวนผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ กล้วย เฉพาะตนเองใช้ในสวนทุเรียน 10 กว่าไร่ ผลผลิตดีขึ้นมาก ติดผลดี คุณภาพผลผลิตดี เพราะน้ำปุ๋ยมีอินทรีย์วัตถุที่ดีแทนปุ๋ยเคมี ช่วยปรับโครงสร้างดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ต้นไม้จึงเจริญงอกงาม ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีไปกว่า 20-30%
จากความสำเร็จของธุรกิจสุกร เป็นแนวทางที่ดีที่ธุรกิจอื่นๆ นำไปใช้เป็นต้นแบบ อาทิ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของซีพีเอฟ จำนวน 9 แห่ง ที่ส่งต่อน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรใกล้เคียง วิโรจน์ ใจด้วง ปลูกหญ้าเนเปียร์ บนพื้นที่กว่า 7 ไร่ ซึ่งการปลูกหญ้าต้องใช้ปุ๋ยยูเรียจำนวนมาก จึงเริ่มรับน้ำตั้งแต่ปี 2564 จากฟาร์มไก่ไข่สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยฟาร์มวางระบบท่อยาว 1 กิโลเมตร ส่งมาให้โดยต้องผสมกับน้ำจากคลองชลประทานอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ใช้ตอนหลังเก็บเกี่ยวหญ้าเพื่อปรับสภาพดิน ใช้น้ำ 3-4 เดือนต่อครั้ง หลังใช้พบว่าหญ้าลำต้นอวบใหญ่ใบใหญ่โตเร็ว โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยยูเรียอีกเลย ช่วยลดรายจ่ายไปถึง 4,000 บาทต่อปี และได้ผลผลิตเพิ่มเกือบ 50%
นอกจากนี้ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ยังต่อยอดสู่การทำปุ๋ยกากไบโอแก๊สด้วย ไพบูลย์ ทาพิลา เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอีกราย ที่เริ่มรับปุ๋ยกากไบโอแก๊สมาใช้กับไร่อ้อย 100 ไร่ เมื่อปี 2564 คาดหวังว่าจะช่วยประหยัดต้นทุน และลดการใช้ปุ๋ยเคมีซ้ำๆที่ทำให้สภาพดินเสียหาย หลังใช้แล้วไม่ผิดหวัง คุณภาพดินดีขึ้น อ้อยงามลำใหญ่ยาว ผลตอบแทนจากการขายอ้อยก็ดีขึ้นด้วย ก่อนนี้เคยใช้ปุ๋ยเคมีมีค่าใช้จ่ายปีละ 3 แสน หลังใช้ปุ๋ยชีวภาพช่วยลดต้นทุนได้ถึง 50-70%
โดยเสียงสะท้อนจากเกษตรกร ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ไม่เพียงเกิดประโยชน์กับองค์กร แต่ยังมองรวมไปถึงความมั่นคงด้านน้ำตลอดห่วงโซ่คุณค่าอีกด้วย